เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ./11680 |
วันที่ | : 18 ธันวาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บค่าแม่พิมพ์จากบริษัทต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 9, มาตรา 82/5(3) |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการผลิตเข็มขัดนิรภัย ซึ่งได้ผลิต เข็มขัดนิรภัย ขายให้แก่ลูกค้าต่างประเทศโดยมีข้อตกลงให้ลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าแม่พิมพ์และกรรมสิทธิ์ในแม่พิมพ์จะ เป็นของลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทฯ สามารถใช้แม่พิมพ์เพื่อผลิตเข็มขัดนิรภัยให้ ลูกค้าได้ แต่ต้องส่งคืนให้ลูกค้า เมื่อเลิกการผลิตซึ่งแม่พิมพ์ที่บริษัทฯ นำมาใช้นี้บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท A ในประเทศให้ทำการผลิตคิด ราคา 1,000,000 บาท โดยบริษัท A จะออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บเงินค่าแม่พิมพ์จากบริษัทฯ และ บริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าแม่พิมพ์และค่าดำเนินการจากลูกค้าเป็นเงิน 1,050,000 บาท บริษัทฯ จึงหารือว่า 1. บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีค่าแม่พิมพ์ที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท A ไป คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ 2. บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีขายให้แก่ลูกค้าได้หรือไม่ 3. ในการออกใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินจากลูกค้าจำนวน 1,050,000 บาท นั้น จะต้อง คำนวณเงินบาทเป็นเงินเยนโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันใด 4. จากข้อ 3 เมื่อลูกค้าโอนเงินมาให้บริษัทฯ จะเกิดผลกำไรหรือขาดทุนจาก อัตราแลกเปลี่ยนจะถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ 5. จากข้อ 3 เงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าจำนวน 1,050,000 บาท นั้น จะถือเป็น รายได้ ของบริษัทฯ ทั้งจำนวนหรือเฉพาะส่วนของค่าดำเนินการจำนวน 50,000 บาท และจะถือเป็นรายได้ของ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กิจการปกติธุระของบริษัทฯ คือ การผลิตเข็มขัดนิรภัยเพื่อขาย แม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตเข็มขัด นิรภัยจึงถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้การผลิตสินค้าสำเร็จลุล่วงตามความ มุ่งหมาย แม่พิมพ์ ดังกล่าวจึงถือเป็นต้นทุนการผลิต นอกจากนี้การที่บริษัทฯ กับลูกค้ามีข้อตกลง ให้ลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่า แม่พิมพ์และกรรมสิทธิ์เป็นของลูกค้า ทั้งต้องส่งคืนเมื่อผลิตเสร็จ โดยบริษัทฯ เรียกเก็บค่าแม่พิมพ์เกินกว่า ราคาที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่บริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์ กรณีของส่วนแม่พิมพ์จึงถือเป็นการขายสินค้าเช่นกัน ดังนั้น 1. บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีค่าแม่พิมพ์ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อเรียกเก็บเงินจาก ลูกค้า บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากแม่พิมพ์นั้นบริษัทฯ มิได้ส่งออกทันทีแต่ได้ใช้ใน การผลิตเข็มขัดนิรภัยในประเทศก่อน 2. ในการคำนวณราคาสินค้าตามใบแจ้งหนี้จากเงินบาทเป็นเงินเยนให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ตามราคาตลาดในวันที่บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้ได้ เนื่องจากใบแจ้งหนี้มิใช่เอกสารที่กฎหมายกำหนดให้ต้อง คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนดวันที่ลูกค้าชำระค่าสินค้าบริษัทฯ ต้อง ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงมูลค่าของ สินค้าและจำนวน ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทย โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตรา ไทยของวันถัดไปตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 71/2541 เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในการปฏิบัติการเพื่อหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การหักภาษีตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร การ ออกใบกำกับภาษีและการลงรายการในรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541 3. เนื่องจากแม่พิมพ์มิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ราคา ค่าแม่พิมพ์ที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าจึงมิใช่รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์หรือ ผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์ที่ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ จึงไม่อาจนำราคาค่าแม่พิมพ์ทั้งจำนวนที่เรียกเก็บจากลูกค้ามาถือ เป็นรายได้ของบริษัทฯ จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ผลกำไรหรือขาดทุนอัน เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากลูกค้าโอนเงินค่าแม่พิมพ์มาให้ ก็ไม่ถือเป็นผลกำไรหรือขาดทุนจากการ ปริวรรตเงินตราจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จึงไม่ถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการที่ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน |
เลขตู้ | : 64/31176 |