เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11637
วันที่: 14 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อของกิจการให้บริการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์มโดยเรือเดินทะเล
ทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2541 โดยจดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 และเริ่มยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 ตั้งแต่เดือนภาษี
กรกฎาคม 2541 บริษัทฯ เริ่มมีรายรับจากการให้บริการสำหรับกิจการต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม
2541 ดังนี้
(1) การขนส่งสินค้าในประเทศ โดยขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์มจากจังหวัด
สุราษฎร์ธานีไปยังจังหวัดสมุทรปราการ และจากจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(2) การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์ม จาก
ประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย และจากประเทศไทยไปยังประเทศเวียดนาม และประเทศ
มาเลเซีย
(3) การขนส่งสินค้าในต่างประเทศ โดยขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์มจากรัฐหนึ่ง
ไปยังอีกรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย และจากประเทศอินโดนีเซียไปยังประเทศมาเลเซีย
2. บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่ใช้ร่วมกันสำหรับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ กิจการที่
ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ค่าซื้อเรือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมแซมเรือ โดยภาษีซื้อสำหรับ
การซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าว บริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นของ กิจการประเภท
ใด บริษัทฯ จึงเฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนของรายได้ของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มและกิจการที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2541 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2542 ในอัตราส่วนร้อยละ
50:50 และได้ยื่นแบบแสดงรายการปรับปรุงภาษีซื้อที่เฉลี่ยตามส่วนของรายได้ (ภ.พ.30.2) สำหรับ
เดือนภาษีสิงหาคม 2541 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2542 ดังกล่าว โดยขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน
230,866.66 บาท
3. สภ. เห็นว่า
3.1 การให้บริการขนส่งสินค้านอกราชอาณาจักร เป็นกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการเฉลี่ยภาษีซื้อจึงไม่ต้องนำรายได้ของกิจการดังกล่าวมารวมเป็นฐานรายได้ทั้งของ
กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ตามข้อ 4 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3.2 "รายได้ของปีที่ผ่านมา" ซึ่งใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับ ผู้ประกอบการที่
เป็นนิติบุคคลนั้นให้นับตามรอบระยะเวลาบัญชี กล่าวคือ การเฉลี่ยภาษีซื้อของปี 2541 ถึง 2542 ของ
บริษัทฯ ซึ่งในปี 2541 บริษัทฯ มีรายได้ไม่ถึง 6 เดือนภาษี ให้บริษัทฯ ประมาณการรายได้ของกิจการ
ทั้งสองประเภทของปีที่เริ่มมีรายได้ แล้วนำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายได้จำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของภาษีซื้อที่นำมาเฉลี่ย เมื่อสิ้นปี
2542 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทฯ เริ่มมีรายได้ (มีรายได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือนภาษี) ให้บริษัทฯ ปรับปรุงภาษีซื้อ
ให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละประเภทกิจการ ภายในเดือนภาษีแรกของปี 2543
ตามหลัก "รายได้ของปีใดให้ใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับปีนั้น" ฉะนั้น หากบริษัทฯ มี
รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมของทุกปี รายได้ซึ่งใช้เป็นฐานในการเฉลี่ย
ภาษีซื้อในแต่ละปีก็ให้นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างรัฐในประเทศมาเลเซีย และระหว่างประเทศ
อินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย ถือเป็นการให้บริการนอกราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการดังกล่าว
นั้นนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ในการเฉลี่ยภาษีซื้อจึงไม่ต้องนำรายได้จากการให้บริการนอกราชอาณาจักรมารวมเป็น
รายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
2. กรณีบริษัทฯ มีภาษีซื้อจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและ
ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่สามารถแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด
บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวตามรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่ในกรณีที่เริ่มประกอบกิจการหรือได้
ประกอบกิจการมาแล้วแต่ยังไม่มีรายได้ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการ
ทั้งสองประเภทของปีที่เริ่มมีรายได้ (ปีแรกที่มีรายได้เกิดขึ้นจริงไม่น้อยกว่า 6 เดือนภาษี) และให้นำ
ภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของการประมาณการรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหัก
ออกจากภาษีขาย แต่ภาษีซื้อดังกล่าวจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของภาษีซื้อที่นำมาเฉลี่ย และเมื่อสิ้นปีของปีแรก
ที่เริ่มมีรายได้ ให้บริษัทฯ ปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริง และสำหรับปีถัดจากปีที่
เริ่มมีรายได้ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้ออีกตามมาตรา
82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3. บริษัทฯ ประกอบกิจการในปี 2541 โดยมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม
2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 บริษัทฯ เริ่มมีรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ
การขนส่งสินค้าภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีที่เริ่ม
ประกอบกิจการ (ปี 2541) น้อยกว่า 6 เดือนภาษี จึงไม่ถือว่ารอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเป็น "ปีที่
เริ่มมีรายได้" ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามข้อ 2(1)
ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
ตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2541 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2542 ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 คือ ตั้งแต่
เดือนภาษีมกราคม 2542 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2542 เป็น "ปีที่เริ่มมีรายได้" เมื่อสิ้นปี 2542 บริษัทฯ
จึงต้องคำนวณภาษีซื้อที่หักได้จริงตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของกิจการประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 และปรับปรุงภาษีซื้อที่ได้นำมาหักออกจากภาษีขาย ตาม
หลักเกณฑ์ ตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว สำหรับปี 2543 บริษัทฯ ต้องเฉลี่ย
ภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา คือ รอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 โดยไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้ออีก
ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 64/31168

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020