เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./11495
วันที่: 12 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับจ้างทำคู่มือการอบรม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2(1), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/252ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542ฯ
ข้อหารือ: บริษัท A ได้ทำสัญญากับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเพื่อจัดทำคู่มือการฝึก อบรม
การประหยัดพลังงาน ต่อมาบริษัท A ได้ให้บริษัท E จัดทำในส่วนที่บริษัท A ไม่สามารถดำเนินการตาม
สัญญาได้ โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญา บริษัท A จะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี
เต็มตามจำนวนเงินตามสัญญา บริษัท E จึงขอทราบว่า
1. เงินที่บริษัท E ได้รับจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ
ที่จ่ายหรือไม่
2. การโอนสิทธิระหว่างบริษัท A กับบริษัท E เป็นการขายหรือการให้บริการระหว่าง 2
บริษัทหรือไม่ เพราะเหตุใด
3. หากบริษัท E นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ของดหรือลดเบี้ยปรับหรือ
เงินเพิ่มด้วย เนื่องจากไม่ได้มีเจตนาในการหลบเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 1. และข้อ 2. บริษัท E ได้รับจัดทำคู่มือการฝึกอบรมการประหยัด พลังงานให้
กับบริษัท A กรณีเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร และ
เมื่อบริษัท A ได้จ่ายเงินที่เป็นค่าจ้างทำของให้กับบริษัท E บริษัท A มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายโดย
คำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
2. ตามข้อ 3. กรณีบริษัท E ไม่ได้นำรายรับจากการให้บริการดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
บริษัท E ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังนี้
(1) ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนตามมาตรา 89(3) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามมาตรา 89(4)
แห่งประมวลรัษฎากร
(2) รับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่
ต้องชำระ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม การกระทำผิดดังกล่าวบริษัท E ไม่มี
เจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่กระทำไปด้วยความสำคัญผิด จึงให้งดเบี้ยปรับแก่บริษัทฯ ตามข้อ 11 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และ
มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 แต่เงินเพิ่มตามมาตรา
89/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรไม่มีอำนาจพิจารณางดหรือลดให้ได้
เลขตู้: 64/31159

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020