เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.03)/253
วันที่: 3 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีดอกเบี้ยเงินฝากของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยางแท่งจากสำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการ
ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีกำหนดเวลาแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบ กิจการ
จากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว บริษัทฯ จึงเข้าใจว่ารายได้อันเกิดจากดอกเบี้ยเงินฝากใน
ธนาคารประเภทออมทรัพย์หากมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ของ กิจการที่ได้รับการ
ส่งเสริมนั้น บริษัทฯ ย่อมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายเช่นกัน ซึ่งจังหวัดเห็นว่าแม้
บริษัทฯ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากดอกเบี้ยรับไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งสิ้นของ
กิจการ แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ธนาคารมิต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และธนาคารย่อมไม่ทราบว่ารายได้ทั้งสิ้น
ของกิจการของบริษัทฯ มีจำนวนเท่าใด จึงไม่อาจคำนวณได้ว่าดอกเบี้ยดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 2 ของ
รายได้ทั้งสิ้นของกิจการหรือไม่ ฉะนั้นธนาคารจึงยังคงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากบริษัทฯ จังหวัดจึง
หารือว่า ความเห็นดังกล่าวถูกต้อง หรือไม่
แนววินิจฉัย: เมื่อบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยางแท่งประเภท 1.19 การผลิต
ผลิตภัณฑ์ยาง ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมี
กำหนดเวลาแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติ
ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ที่เกิดจาก
ดอกเบี้ยที่บริษัทฯ นำเงินทุนหมุนเวียนหรือรายได้ที่ได้จากการขายสินค้าของกิจการตั้งแต่วันเริ่มมีรายได้
จากการประกอบกิจการไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินฝากประเภทที่จ่ายคืน
เมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ซึ่งใช้สมุดคู่ฝากในการฝาก ถอน และไม่ได้ใช้เช็คในการถอนดอกเบี้ยรับ
ในกรณีนี้ถือเป็นรายได้จากการประกอบ กิจการที่ได้รับการส่งเสริม จึงได้รับการยกเว้น
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวต้องมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน ร้อยละ 2 ของรายได้ ของ
กิจการที่ได้รับการส่งเสริมในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี แต่เนื่องจากขณะที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้แก่
บริษัทฯ นั้น ธนาคารไม่อาจทราบได้ว่าดอกเบี้ยที่จ่ายนั้นมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งสิ้นของ
กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ ฉะนั้น ธนาคารผู้จ่ายเงินได้ (ดอกเบี้ย) ให้แก่บริษัทฯ จึง
ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามปกติ
เลขตู้: 64/31137

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020