เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10833
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีแปลงหนี้เป็นทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคหารือ สก. เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายได้จากการ
ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ราย บริษัท ซ. สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตถังโลหะเพื่อใช้ในการก่อสร้างหรือติดตั้ง
ได้รับจ้างบริษัท อ. ผลิตถังโลหะและส่วนประกอบในโครงการเก็บน้ำมันให้กับบริษัท ร.เป็นบริษัทลูกของ
บริษัท ท. โดยมีบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกันการจ่ายเงินค่าจ้าง ต่อมา บริษัท ท. ได้ประสบปัญหาทาง
การเงินจนไม่อาจจ่ายค่าจ้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ประมาณ 145 ล้านบาท จึงได้ขอฟื้นฟูกิจการตาม
คำสั่งศาลล้มละลายกลาง ในปี พ.ศ. 2543 และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ทำการแปลงดอกเบี้ยค้างจ่าย
และค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปี พ.ศ. 2541-2543 เป็นทุนของ บริษัท ท. ดังนั้น บริษัทฯ ใน
ฐานะเจ้าหนี้จึงได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลได้มี คำสั่งให้ได้รับชำระหนี้
เต็มตามคำขอ แต่ได้แปลงหนี้ออกเป็นหุ้นจำนวน 9,931,228 หุ้น มูลค่าประมาณ 54,814,396.18
บาท และให้เจ้าหนี้ทุกรายที่ได้รับการจัดสรรหุ้นฝากหลักทรัพย์ไว้กับบริษัท ศ. เป็นระยะเวลา 5 ปี โดย
ห้ามเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ตลอดระยะเวลาดังกล่าว บริษัทฯ จึงขอหารือเกี่ยวกับการคำนวณรายได้ของ
รอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ดังนี้
1. บริษัทฯ บันทึกบัญชีเป็นรายได้จากการผลิตได้หรือไม่ หากไม่ได้ต้องปฏิบัติอย่างไร
2. บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับมารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
3. หากบริษัทฯ ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับมาเป็นรายได้ บริษัทฯ
จะขอชำระภาษีเป็นมูลค่าหุ้นได้หรือไม่
สำนักงานสรรพากรภาคพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลค่าหุ้นที่บริษัทฯ ได้รับนั้น เกิดขึ้นจากบริษัท ท.
ได้ว่าจ้างให้ บริษัทฯ ผลิตถังโลหะและส่วนประกอบในโครงการเก็บน้ำมัน และการ ค้ำประกันการจ่าย
ค่าจ้าง ดังนั้น เงินค่าจ้างในกรณีนี้จึงเข้าลักษณะเป็นรายได้จากการประกอบ กิจการที่ได้รับการ
ส่งเสริมการลงทุน อันเป็นกรณีได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด อย่างไร ก็ตามบริษัทฯ จะต้องนำ
มูลค่าหุ้นที่ได้รับมาลงบัญชีเป็นรายได้
บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2544 ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้
เมื่อบริษัท ท. ประสบปัญหาทางการเงินทำให้ไม่สามารถจ่ายค่างานให้บริษัทฯ ในปี 2540
และได้แจ้งหยุดงานชั่วคราว บริษัทฯ ได้พยายามต่อรองกับบริษัท ท. ในวันที่ 13 สิงหาคม 2541 เมื่อ
บริษัทฯ ได้รับหนังสือบันทึกข้อตกลงจากบริษัท ร. มีข้อเสนอบางส่วนให้คิดเบี้ยปรับ (ดอกเบี้ย) อัตรา
ร้อยละ 16 ต่อปี เนื่องจากผิดนัดชำระเงินค่างวดงาน แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้ตอบตกลง ขณะนั้นบริษัทฯ จึง
ไม่มีการบันทึกรายได้เบี้ยปรับ (ดอกเบี้ย)
ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2543 บริษัท ท.เข้าสู่กระบวนการพิจารณาภายใต้ศาล ล้มละลาย
กลาง ทางสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้บางรายยื่นขอรับชำระหนี้ต่อสำนักฟื้นฟู
กิจการของลูกหนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามและขอใช้สิทธิเรียกอัตราเบี้ยปรับร้อยละ 16 ต่อปี และได้
รับการอนุมัติจากสำนักฟื้นฟูของลูกหนี้เต็มจำนวน ดังนั้น บริษัทฯ ได้บันทึก เบี้ยปรับ (ดอกเบี้ย) เป็น
รายได้ค้างรับของรอบบัญชีปี 2542 จำนวน 42 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดเงินตามหนังสือคำขอยืนยันเนื่องใน
การสอบบัญชีของบริษัท ร. ที่แจ้งมายังบริษัทฯ แต่ยอดดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองจากศาลล้มละลาย
กลาง ต่อมาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ได้รับอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการจากเจ้าหนี้และศาลล้มละลาย
กลางประมาณเดือนพฤศจิกายน 2543 และดำเนินการตามแผนโดยตลอด และแผนฟื้นฟูดังกล่าวได้กำหนด
ให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูปรับเบี้ยปรับของบริษัทฯ เป็นทุนของบริษัท ท. มีมูลค่า 55 ล้านบาท
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้รับเบี้ยปรับ (ดอกเบี้ย) เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ บริษัทฯ ต้อง
บันทึกเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้
เกิดขึ้นโดยใช้หลักเกณฑ์สิทธิ์ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เบี้ยปรับดังกล่าว จึงมิใช่รายได้จาก
การผลิตซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้บันทึกเบี้ยปรับเป็นรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว เมื่อผู้บริหาร
แผนฟื้นฟูทำการปรับเบี้ยปรับเป็นทุน (หุ้น) บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับ มารวมคำนวณเป็น
รายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก และบริษัทฯ จะชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นหุ้นไม่ได้
เลขตู้: 64/31128

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020