เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10958
วันที่: 20 พฤศจิกายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมของร้านค้ารับบัตรเครดิต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544, มาตรา 50 ทวิ วรรคสาม, มาตรา 17, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4)ฯ, มาตรา 60
ข้อหารือ: หารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของค่าธรรมเนียมร้านค้ารับ
บัตรเครดิต ตามคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ดังนี้
1. ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตที่ให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิตจะจ่าย
เงินให้กับร้านค้าพร้อมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้า ซึ่งธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าธรรมเนียมดังกล่าว และนำเงินค่าธรรมเนียมสุทธิหลังจากหักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
เข้าบัญชีธนาคารของร้านค้า และออกใบกำกับภาษีให้กับร้านค้า ทำให้ร้านค้าไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมได้ในทันทีที่จ่าย แต่ร้านค้าจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้
กับธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตในภายหลัง ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่ถูกต้องตามแนวทางปฏิบัติของ
กรมสรรพากรตามคำชี้แจงกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 เนื่องจากร้านค้าผู้จ่ายเงิน
ค่าธรรมเนียมมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน
โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตผู้ถูกหักภาษี ณ
ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ระบุวัน
เดือน หรือปีภาษีที่จ่ายเงินได้ เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน
2. กรณีร้านค้าแต่งตั้งให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นตัวแทนเพื่อ
ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนร้านค้า แนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรตามคำชี้แจงกรมสรรพากรฯ
ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 กำหนดให้ต้องมีการจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการ
แทนเป็นลายลักษณ์อักษร และธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของร้านค้าเป็นรายฉบับแต่ละรายร้านค้า พร้อมทั้งส่งมอบ
สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และใบเสร็จรับเงินของ
กรมสรรพากรให้กับร้านค้าด้วย ชมรมฯ มีความเห็นว่า กรณีให้ร้านค้าและธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต
ทำสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร จะมีความยุ่งยากในทาง
ปฏิบัติเป็นอย่างมากและไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนทุกร้านค้า เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าซึ่งรับ
บัตรเครดิตมากกว่าหนึ่งแสนร้าน และแต่ละร้านค้าก็รับบัตรเครดิตของหลายแห่ง นอกจากนี้ธนาคารหรือ
บริษัทบัตรเครดิตไม่อยู่ในวิสัยจะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับแต่ละรายผู้จ่ายเงิน
และไม่อยู่ในวิสัยที่จะยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในนามของผู้จ่ายเงินเป็นรายฉบับแต่ละราย
ผู้จ่ายเงิน จึงขอให้กรมสรรพากรอนุมัติให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตไม่ต้องทำสัญญาการแต่งตั้งตัวแทน
เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับแต่ละรายผู้จ่ายเงิน
และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.53 เพียง 1 ฉบับ ในนามของธนาคารหรือ
บริษัทบัตรเครดิตแต่ระบุว่าในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน โดยมีรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก
ณ ที่จ่ายของร้านค้าแนบแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย และให้ใช้เอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อของแบบ
ภ.ง.ด.53 ซึ่งสามารถจัดทำเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
แนววินิจฉัย: 1. กรณีร้านค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้
บัตรเครดิตให้กับธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคาร
ของผู้จ่ายเงิน ถือเป็นการจ่ายค่าบริการที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากร
ร้านค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 และร้านค้ามีหน้าที่ต้องออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันที
ทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ดี
เนื่องจากร้านค้ามีรายการขายสินค้าและให้บริการด้วยบัตรเครดิตทุกวัน ทำให้ร้านค้าไม่สามารถหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของร้านค้า จึงผ่อนผันให้ร้านค้า
ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่าย
ค่าธรรมเนียมในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1
ครั้งต่อเดือน แต่ร้านค้ายังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ ตาม
มาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
2. ในกรณีร้านค้าผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมมีความประสงค์แต่งตั้งให้ธนาคารหรือบริษัท
บัตรเครดิตผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ผู้จ่าย
เงิน พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็
สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็น
ลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่ายในนามของร้านค้า และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของ ร้านค้า หากธนาคาร
หรือบริษัทบัตรเครดิตรายหนึ่งรายใดได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทน
ร้านค้าหลาย ๆ ร้านค้า ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็น
รายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของร้านค้าเป็นรายฉบับ
แต่ละรายร้านค้าด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีร้านค้าที่รับบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก และแต่ละ
ร้านค้าก็รับบัตรเครดิตของธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตหลายแห่ง จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำสัญญาการตั้งตัว
แทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่อยู่ในวิสัยจะออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของร้านค้าเป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และไม่อยู่ใน
วิสัยจะยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในนามของร้านค้าเป็นรายฉบับ จึงให้ธนาคารและบริษัท
บัตรเครดิตดำเนินการดังนี้
2.1 กรณีธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตได้มีหนังสือแจ้งไปยังร้านค้าซึ่งเป็นสมาชิกอยู่เดิมโดยมี
สาระสำคัญว่า ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายของค่าธรรมเนียม
ร้านค้ารับบัตรเครดิตแทน ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ
ที่จ่ายแทน โดยกำหนดระยะเวลาให้ร้านค้าตอบรับ เมื่อร้านค้า ตอบรับแล้ว ถือว่าหนังสือแจ้งเป็น
ข้อตกลงแต่งตั้งให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตเป็นตัวแทนแล้ว แต่หากเป็นร้านค้าที่เป็นสมาชิกใหม่จะ
ต้องมีข้อกำหนดการแต่งตั้งตัวแทนอย่างชัดเจน
2.2 กรณีธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมแทน
ร้านค้าแล้ว ผ่อนผันให้ร้านค้าไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียม
ให้กับธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตต้องจัดทำรายละเอียดรายการ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งมีรายการตามเอกสารที่ชมรมฯ ส่งไปประกอบการพิจารณาของกรมสรรพากร
เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตยังคงมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้
2.3 เพื่อเป็นการรับรองว่าธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย แทนร้านค้าแล้ว ให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตระบุข้อความเพิ่มเติมในใบกำกับภาษีของ
ค่าธรรมเนียมมีสาระสำคัญว่า ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของ
ค่าธรรมเนียมในอัตรา 3% เป็นจำนวน ......บาท แทนร้านค้าแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษี
ดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะต้องจัดให้มี
การ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
2.4 ให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.53
โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่าย
เงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่าย จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสาร
รายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งอาจจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้
และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษี ตามมาตรา 17 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่
4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม
พ.ศ. 2531
2.5 ให้ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงิน
ของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/31110


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020