เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10796
วันที่: 15 พฤศจิกายน 2544
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542ฯ, มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่า สำนักงานสรรพากรจังหวัด (สาขา) ได้หารือกรณีการนับ
ระยะเวลาการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมีข้อเท็จจริง
ดังนี้
1. นาย อ. ได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน (เฉพาะส่วน) โฉนดเลขที่ 1000 เลขที่ดิน 0 หน้าสำรวจ
00 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามคำสั่งศาลจังหวัดธัญ
บุรี คดีหมายเลขแดงที่ 000/2535 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 โดยนาย อ. ได้เข้าถือครองที่ดิน
ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2520 และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ (ครอบครองปรปักษ์เฉพาะส่วน) ที่
สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาลำลูกกา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2537
2. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 นาย อ. ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1000 ออกเป็นโฉนด
เลขที่ 70000, 70001 และได้โอนขายไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 จึงมีปัญหาว่า จะเริ่มนับวันที่ได้
มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันใด ระหว่างวันที่ครบกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 1382 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือวันที่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ตาม
นัยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542 ฯ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
3. จังหวัดฯ เห็นว่า การนับระยะเวลาได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครอง ปรปักษ์
นั้น ให้นับแต่วันที่ได้ครอบครองครบ 10 ปี ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้ว่าจะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โอนแก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทะเบียนที่ดินก็ตาม และตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น นาย อ. ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการโอน
ที่ดินเมื่อพ้นกำหนด 5 ปีแล้ว กรณีจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 สำนักงานสรรพากรภาค
เห็นว่า การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำสั่งศาล หรือคำพิพากษานั้น
ผูกพันเฉพาะแต่คู่ความเท่านั้น หาผูกพันหรือยันบุคคลภายนอกได้ไม่ กรณีเทียบเคียงตามคำพิพากษาที่
1958/2533 การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมนั้นจะได้ทำเป็นหนังสือและ
ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542 เรื่อง
การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6)
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ข้อ 3(6)(ก) กำหนดว่า "วันที่ได้มา"
ได้แก่วันที่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการนับระยะเวลาวันที่
ได้มาในอสังหาริมทรัพย์จึงให้นับจากวันที่ 6 ตุลาคม 2537 จึงหารือว่าความเห็นของสำนักงาน
สรรพากรภาคถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: ความเห็นของสำนักงานสรรพากรภาคถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 64/31104

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020