เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10349
วันที่: 1 พฤศจิกายน 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, มาตรา 77/1(20), มาตรา 85/7,มาตรา 86/8, มาตรา 86/6, มาตรา 86/4, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2534 ฯ
ข้อหารือ: การทางพิเศษแห่งประเทศไทยหารือกรมสรรพากรกรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการ
ออกใบกำกับภาษีว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างทางพิเศษเพื่อเป็น
เส้นทางคมนาคม รวม 5 เส้นทาง ดังนี้
1.1 ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 1) กทพ.ลงทุนเอง
1.2 ทางพิเศษศรีรัช (โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2) กทพ. ร่วมลงทุนกับเอกชนคือ
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (มหาชน) จำกัด
1.3 ทางพิเศษฉลองรัช (สายรามอินทรา-อาจณรงค์) กทพ. ลงทุนเอง
1.4 ทางพิเศษบูรพาวิถี (สายบางนา-ชลบุรี) กทพ. ลงทุนเอง
1.5 ทางพิเศษอุดรรัถยา (สายบางปะอิน-ปากเกร็ด) กทพ. ร่วมลงทุนกับบริษัททางด่วน
กรุงเทพเหนือ จำกัด
2. กรณีร่วมลงทุนกับเอกชน กทพ. จะเป็นผู้ดำเนินกิจการทางด่วน และได้ มอบหมายให้ผู้
ร่วมลงทุนเป็นผู้ลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง และมีหน้าที่บริหารงานบนทางด่วน บำรุงรักษาระบบทางด่วน
รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจราจร การกู้ภัยบนทางด่วน ค่าวิศวกรที่ปรึกษา เงินเดือนและ
ค่าแรงพนักงานที่ปฏิบัติงานบนทางด่วนทั้งหมด กทพ. และผู้ร่วมลงทุนตกลงแบ่งส่วนรายได้เป็นร้อยละของ
ค่าบริการผ่านทางที่ กทพ. เก็บได้ในแต่ละวัน
3. กทพ. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงานสรรพากรเขตจตุจักรระบุว่ามี
สถานประกอบการเพียงแห่งเดียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา และยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานประกอบการที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เพียงแห่งเดียว
4. การเรียกเก็บค่าผ่านทางและการจัดทำใบกำกับภาษี
4.1 เรียกเก็บค่าผ่านทางจากผู้ใช้บริการทางด่วนที่ตู้เก็บเงิน ซึ่ง กทพ.มิได้
ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 7)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534
อย่างไรก็ดี หากผู้ใช้บริการเรียกร้องใบกำกับภาษี กทพ. จะรวบรวมใบรับค่าผ่านทางสำหรับผู้ที่ร้องขอ
ใบกำกับภาษี และให้ไปยื่นขอรับใบกำกับภาษี ณ อาคารสำนักงานใหญ่
4.2 จำหน่ายคูปองที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง เมื่อผู้ใช้บริการซื้อคูปองจากด่านเก็บค่าผ่านทาง
และต้องการใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ด่านเก็บค่าผ่านทางจะกรอกชื่อ ที่อยู่
จำนวนคูปองที่ซื้อ และจำนวนเงิน ลงในแบบฟอร์มการขอใบกำกับภาษี และนัดวันให้ผู้ใช้บริการมารับ
ใบกำกับภาษี สำหรับยอดเงินค่าขายคูปองที่ผู้ใช้บริการมิได้ขอใบกำกับภาษี กทพ. จะออกใบกำกับภาษี
หนึ่งฉบับว่าเป็นของผู้ใช้บริการ เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ก็จะรวบรวมเงินที่ขายคูปองเก็บไว้ในตู้เซฟ และพิมพ์
รายงานการขายคูปองเพื่อตรวจสอบกับแบบฟอร์มการขอใบกำกับภาษีที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง รวมทั้ง
ใบกำกับภาษีที่ออกว่าเป็นของผู้ใช้บริการ เพื่อให้ข้อมูลตรงกัน นอกจากนี้ ได้รวบรวมแบบฟอร์มการขอ
ใบกำกับภาษีเพื่อส่งให้สำนักงานใหญ่ สำนักงานใหญ่ก็จะพิมพ์ใบกำกับภาษีตามข้อมูลที่ได้รับและส่งให้แก่
ด่านเก็บค่าผ่านทางที่ขอใบกำกับภาษี
4.3 จำหน่ายบัตรทางด่วน (TAG)
(1) กรณีจำหน่ายที่สำนักงานใหญ่ สำนักงานใหญ่จะออกใบกำกับภาษีให้แก่
ผู้ใช้บริการทันที และจัดพิมพ์รายงานการรับเงินทุกสิ้นวัน
(2) กรณีจำหน่ายที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง ด่านเก็บค่าผ่านทางจะให้ผู้ใช้บริการกรอก
แบบฟอร์มการขอใบกำกับภาษี และส่งให้สำนักงานใหญ่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ซึ่งจะส่งให้แก่ผู้ใช้บริการ
ทางไปรษณีย์ ด่านเก็บค่าผ่านทางจะสรุปรายการรับเงินในแต่ละวัน
แนววินิจฉัย: 1. กรณี กทพ. ลงทุนในโครงการระบบทางด่วนเอง 3 เส้นทางหรือร่วมลงทุนกับเอกชน 2
เส้นทาง ถือว่า กทพ. เป็นผู้ดำเนินกิจการทางด่วน โดยให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทางด่วนค่าผ่านทาง
ทั้งหมดที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้ที่ตู้เก็บเงิน เป็นค่าบริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร กทพ.
จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง กทพ. มี
สถานประกอบการตั้งอยู่ในท้องที่เขตจตุจักรและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่
5 แล้ว ด่านเก็บค่าผ่านทางแต่ละด่านเป็นสถานที่สำหรับให้ผู้ใช้บริการผ่านเข้าไปเพื่อใช้บริการทางพิเศษ
ของ กทพ. ดังนั้น ด่านแต่ละด่านจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการตามมาตรา 77/1(20) แห่ง
ประมวลรัษฎากร กทพ. ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/7
แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณี กทพ. ได้เรียกเก็บค่าผ่านทางจากผู้ใช้บริการทางด่วนที่ตู้เก็บเงินเป็น เงินสด กทพ.
ไม่จำเป็นต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ใช้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 500 บาทเว้นแต่ผู้รับบริการ
จะเรียกร้องใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 7) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของ
การประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย และการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการ
จดทะเบียนตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 หากผู้ใช้บริการ
เรียกร้องใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กพท. สามารถรวบรวมใบรับค่าผ่านทาง
สำหรับผู้ที่ร้องขอใบกำกับภาษีแต่ละด่านและไปยื่นขอรับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ได้
3. กรณี กทพ. จำหน่ายคูปองค่าผ่านทางที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง หรือจำหน่ายบัตรทางด่วน
(TAG) ที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง หากมูลค่าครั้งหนึ่งตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป กทพ. มีหน้าที่ต้อง
ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ใช้บริการ และหาก
ผู้ใช้บริการต้องการใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กทพ. สามารถรวบรวมใบกับ
ภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้ใช้บริการที่ร้องขอใบกำกับภาษี แต่ละด่าน
เพื่อขอรับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
ได้
เลขตู้: 64/31085

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020