เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9954
วันที่: 17 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าภาระท่าเรือ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้เช่าท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลาจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อประกอบการให้บริการ
ท่าเรือ ขนส่งสินค้าเข้าและออก ในการนี้บริษัทฯ คิดค่าบริการจากรถยนต์บรรทุกที่ผ่านเข้าออกท่าเรือ
โดยคิดค่าบริการในอัตราที่แน่นอนตามที่ทางราชการกำหนด ซึ่งเรียกว่าค่าภาระท่าเรือ (PORT
TARIFF) โดยเรียกเก็บภาระรถผ่านท่า และการชั่งน้ำหนักสินค้าพร้อมกันไปในคราวเดียว การเก็บเงิน
ค่าบริการมี 2 แบบ คือ เก็บค่าบริการเป็นเงินสดทุกครั้งที่มีการให้บริการในวงเงินไม่ถึง 1,000 บาท
และเก็บค่าบริการเป็นครั้งในลักษณะการให้เครดิตโดยรวมการให้บริการหลาย ๆ ครั้ง แต่ละครั้งไม่ถึง
1,000 บาท แล้วเรียกเก็บซึ่งจะเป็นเงินเกิน 1,000 บาท การออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี จะ
ออกให้ทั้งในนามตัวแทนผู้ขนส่ง หรือเจ้าของสินค้า แล้วแต่กรณี บริษัทฯ จึงหารือ ว่าการเก็บเงิน
ค่าบริการตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าภาระท่าเรือ (PORT TARIFF) สำหรับ
รถยนต์บรรทุกที่ผ่านท่า เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมผ่านท่าและเป็นค่าบริการชั่งน้ำหนักสินค้า เงินค่าภาระ
ท่าเรือดังกล่าวเป็นเงินได้จากการให้บริการ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร หากการจ่ายเงินตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากค่าบริการผ่านท่าในแต่ละ
เที่ยว ถือเป็นสัญญารายหนึ่งหากแต่ละสัญญามีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาทแต่การจ่ายเงินรวมกันแล้วถึงหนึ่งพัน
บาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
เลขตู้: 64/31032

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020