เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9816
วันที่: 11 ตุลาคม 2544
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีหนังสือสัญญาที่ปรึกษาทางธุรกิจ
ข้อกฎหมาย: ลักษณะแห่งตราสาร 4 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เอ จำกัด ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้คำปรึกษาทาง
ธุรกิจ โดยให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการผลิต ด้านการตลาด การบริหารงาน
บุคคล การเงินและการจัดการ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ถึงปีปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยื่นแบบขอและอนุมัติให้
เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน (อ.ส.4) เพื่อติดใบสลักหลังตราสาร (อ.ส.5) ของหนังสือสัญญาที่ปรึกษา
ทางธุรกิจ สำหรับปี 2540-2543 ตาม คำแนะนำจากฝ่ายสืบสวนและตรวจสอบภาษีของสำนักงาน
สรรพากรจังหวัด แต่ในปี 2544 บริษัทฯ ได้รับคำแนะนำจากฝ่ายกฎหมายและเร่งรัดของสำนักงาน
สรรพากรจังหวัดว่าบริษัทฯ ไม่ต้องยื่นแบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน (อ.ส.4) เพราะ
สัญญาที่ปรึกษาทางการบริหารไม่อยู่ในเรื่องของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ต่อมาบริษัทฯ ได้หารือสำนักงาน
สรรพากรภาค ซึ่งได้รับแจ้งว่า สัญญาให้ค่าปรึกษา แนะนำ ด้านการเงิน การบริหารการตลาด ซึ่ง
ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ ผู้รับจ้างเมื่อผู้รับจ้างให้บริการตามสัญญา ถือเป็นสัญญาที่มุ่งหมายถึงผลสำเร็จ
ของงานจึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะ
ตราสาร 4.แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ โต้แย้งว่า สัญญาจ้างทำของต้องคำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลักตาม คำพิพากษาฎีกาที่
3533/2524 กรณีสัญญาที่ปรึกษาทางธุรกิจของบริษัทฯ ทางบริษัทฯ ผู้รับจ้างในสหรัฐอเมริกาตกลงจะ
กระทำการหลาย ๆ อย่างให้บริษัทฯ โดยมิได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงาน สัญญาดังกล่าว บริษัทฯ เห็นว่า
มิใช่สัญญาจ้างทำของ บริษัทฯ จึงมิต้องเสียอากรแสตมป์
แนววินิจฉัย: สัญญาว่าจ้างดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ เนื่องจากบริษัท เอ จำกัด (ผู้รับจ้าง)
รับทำการงานให้สำเร็จต่อบริษัทฯ (ผู้ว่าจ้าง) โดยให้คำปรึกษาและฝึกอบรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้าน
การผลิตทุกชนิดที่เป็นปัญหาของบริษัทผู้ว่าจ้าง รวมทั้งให้คำแนะนำด้านการตลาด การบริหารงานบุคคล
การเงิน การจัดการทั่วไป และคำแนะนำด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นประโยชน์ของบริษัทผู้ว่าจ้าง
โดยผู้รับจ้างต้องใช้ความรู้ ความสามารถเฉพาะของตนโดยมิได้อยู่ในอำนาจการควบคุมบังคับบัญชา หรือ
ชี้แนะ และสั่งการของผู้ว่าจ้างแต่ประการใด แม้ว่าการทำงานให้จะไม่ก่อให้เกิดวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นของงานเป็นวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างจึงตกลงจ่ายค่าจ้างให้เพื่อการดังกล่าว
จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีหน้าที่ตอบแทนซึ่งกันและกัน เข้าลักษณะเป็น
สัญญาจ้างทำของ
ดังนั้น สัญญาดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นตราสารที่อยู่ในบังคับต้อง
ปิดอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้: 64/30999

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020