เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./9811
วันที่: 11 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชดเชยสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 82/3, มาตรา 82/4, มาตรา 82/10
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจประเภทขายปลีกเวชภัณฑ์ โดยซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตและขายส่ง
บริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้กับโรงพยาบาลที่เป็นของรัฐ เอกชน และร้านค้าทั่วไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2543
บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล จ. ฉ. และ ม. ดังนี้
1. กรณีโรงพยาบาล จ. ได้ซื้อชุดให้น้ำเกลือแบบ 02-BW แอร์สั้นจำนวน 2,000 ชุด
แต่เมื่อนำมาใช้กับคนไข้จะเกิดการรั่วซึม และได้ใช้สินค้าชนิดนี้ไปแล้ว จำนวน 500 ชุด คงเหลือ
1,500 ชุด และได้ส่งส่วนที่เหลือคืนบริษัทฯ และขอให้บริษัทฯ จัดส่งสินค้าคืนโรงพยาบาล จ. เท่ากับ
จำนวนที่ซื้อคือ 2,000 ชุด โดยไม่เรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล สำหรับสินค้า จำนวน 500 ชุด ที่
ใช้กับคนไข้และติดเชื้อไม่สามารถคืนได้
2. กรณีโรงพยาบาล ฉ. ซื้อชุดให้น้ำเกลือแบบ 02-BW แอร์ยาว จำนวน 3,000 ชุด
เมื่อนำไปใช้กับคนไข้พบว่าสินค้าชำรุด จำนวน 2,000 ชุด จึงจะได้ส่งคืนบริษัทฯ จำนวน 2,000
ชุด และขอให้บริษัทฯ ส่งสินค้าชดเชยให้จำนวน 3,000 ชุด โดยไม่เรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล
3. กรณีโรงพยาบาล ม. ได้สั่งซื้อชุดน้ำเกลือแบบ 02-BW แอร์ยาว จำนวน 2,000
ชุด พบว่าสินค้าชำรุดบางส่วน แต่ไม่สามารถระบุจำนวนที่ชำรุดได้ จึงขอให้บริษัทฯ ส่งสินค้าชดเชยให้
จำนวน 500 ชุด โดยไม่เรียกเก็บเงินกับโรงพยาบาล ส่วนสินค้าที่ชำรุดนั้นโรงพยาบาล ม. ไม่ได้คืนให้
บริษัทฯ
การชดเชยสินค้าให้กับโรงพยาบาล จ. ฉ. และ ม. บริษัทฯ ได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตและ
ผู้ขายส่งสินค้าให้แก่บริษัทฯ ชดเชยสินค้าตามจำนวน และรายการที่ลูกค้าบริษัทฯ แจ้งคืนโดยไม่คิด มูลค่า
บริษัทฯ ขอทราบว่า
1. กรณีบริษัทฯ รับคืนสินค้าจากลูกค้าต้องออกใบลดหนี้หรือไม่ หากลูกค้าของบริษัทฯ เป็น
โรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ไม่ยอมรับใบลดหนี้ บริษัทฯ ต้องทำอย่างไร
2. กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าไปชดเชยให้กับลูกค้าที่แจ้งว่าสินค้าชำรุด บริษัทฯ ต้อง
ออกใบกำกับภาษีโดยไม่คิดมูลค่าสินค้าชดเชย และนำส่งภาษีขายถูกต้องหรือไม่ และภาษีขาย ดังกล่าวนำ
มาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่
3. บริษัทผู้ขายได้ส่งสินค้ามาให้บริษัทฯ โดยออกใบกำกับภาษี ระบุว่าไม่คิดมูลค่าเพื่อชดเชย
สินค้าที่ชำรุด ภาษีซื้อจากกรณีนี้จะถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้
ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลง ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้บริษัทฯ ออก
ใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้า (โรงพยาบาล) ในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น และให้บริษัทฯ นำ
ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าที่ลดลงนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้
ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/10(3) และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าตัวใหม่ชดเชยให้กับลูกค้าที่สินค้าชำรุด ถือเป็นการขายตามมาตรา
77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า เมื่อความรับผิดใน
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าดังกล่าว ให้ถือตามราคาตลาด
ของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น ตามมาตรา 79/3(1) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
และนำภาษีขายดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี
ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำภาษีขายดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทผู้ขายได้ส่งสินค้าให้บริษัทฯ เพื่อชดเชยสินค้าตามจำนวนและ รายการที่ลูกค้า
แจ้งคืนโดยไม่คิดมูลค่า ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้ขายมีหน้าที่
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยดำเนินการ
เช่นเดียวกับข้อ 2 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูกบริษัทผู้ขายเรียกเก็บ เนื่องจากการซื้อสินค้ามาเพื่อใช้
ในการประกอบกิจการของตน ย่อมเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 82/4 วรรคสี่ แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่ตามข้อเท็จจริง บริษัทผู้ขายได้ส่งสินค้ามาให้ บริษัทฯ โดยออกใบกำกับภาษี ระบุว่า
ไม่คิดมูลค่าเพื่อชดเชยสินค้าที่ชำรุด โดยมิได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ตามมาตรา 82/4
วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่เป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
ไม่มีสิทธินำไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30995


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020