เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./9648
วันที่: 8 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินต้นคืนให้แก่บริษัทต่างประเทศผู้ให้กู้เงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 70, มาตรา 77/2(1)
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคล ที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
ร้อยละ 60 และนิติบุคคลต่างประเทศ (ประเทศเนเธอร์แลนด์) ร้อยละ 40 โดยมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น
1,000,000 บาท ต่อมาบริษัทฯ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถหากระแสเงินสดมาใช้จ่ายได้
บริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติจึงออกเงินกู้ให้บริษัทฯ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 16,723,378 บาท โดยผู้ถือหุ้น
ดังกล่าวจะทำการส่งเงินให้เมื่อบริษัทฯ ต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายเป็นคราว ๆ ไป โดยคิดดอกเบี้ยคงที่
ร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถดำรงอยู่ได้ และหยุดการกู้เงินจากบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติตั้งแต่
เดือนมีนาคม 2542
แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงไม่สามารถทำกำไรจากกิจการได้ บริษัท
ผู้ถือหุ้นต่างชาติ (ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ด้วย) จึงไม่ต้องการดำรงกิจการนี้ไว้ เนื่องจากบริษัทฯ มีผล
ขาดทุนเป็นจำนวนมาก ส่งผลเสียต่องบการเงินรวมของทั้งหมด จึงต้องการขายกิจการทิ้ง แต่เนื่องด้วย
บริษัทฯ ยังขาดทุนอยู่ และไม่มีมูลค่าใด ๆ บริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติจึงพยายามจะทำข้อตกลงว่าจะยกหนี้
บางส่วน หรือหุ้นทั้งหมดให้ แต่บริษัทฯ ต้องคืนเงินต้นจำนวนหนึ่งให้โดยทันทีเป็นมูลค่า 50,000 เหรียญ
สหรัฐจึงขอทราบว่า
1. ถ้าบริษัทฯ ยินยอมกับข้อตกลงดังกล่าว บริษัทฯ จะบันทึกบัญชีการ เปลี่ยนแปลงจากเงินกู้
มาเป็นรายได้ของบริษัทฯ อย่างไร
2. บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในการรับรู้รายได้ดังกล่าว หรือไม่
3. บริษัทฯ ชำระเงินต้นคืนให้แก่บริษัทผู้ให้กู้เงินต่างชาติ บริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายด้วยหรือไม่
สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า
1. กรณีตาม 1. กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติจะทำข้อตกลงว่าจะยกหนี้บางส่วน
หรือหุ้นทั้งหมดให้บริษัทฯ ซึ่งหากบริษัทฯ ยอมตามข้อตกลง บริษัทฯ จะต้องบันทึกการเปลี่ยนแปลงจาก
เงินกู้มาเป็นรายได้ของบริษัทฯ การคำนวณรายได้ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ดังนั้น ให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นใน
รอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ใน
รอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 2. เมื่อปรากฏว่า บริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติยกหนี้บางส่วนหรือหุ้นทั้งหมดให้บริษัทฯ
กรณีจึงถือว่าบริษัทฯ ได้รับเงินได้จากการโอนทรัพย์สิน โดยไม่มีการขายสินค้า หรือให้บริการใดแก่บริษัท
ผู้ถือหุ้นต่างชาติ ดังนั้น รายได้ดังกล่าวที่บริษัทฯ ได้รับจึงไม่ใช่ผลตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการ
ให้บริการ ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
3. กรณีตาม 3. กรณีที่บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัท ผู้ถือหุ้น
ต่างชาตินั้น จะต้องปรากฏว่ามีลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5)หรือ (6)
ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยให้บริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ใน
การส่งเงินต้นคืนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติที่เป็นผู้ให้กู้ยืมนั้น ไม่เข้าลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
70 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. ความเห็นของสำนักงานสรรพากรภาคถูกต้องแล้ว และขอเพิ่มเติมว่า ในการ
บันทึกบัญชีให้บริษัทฯ ถือปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองกันทั่วไป
2. กรณีตาม 2. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินได้เนื่องจากบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ยกหนี้ บางส่วนหรือ
หุ้นทั้งหมดให้ ไม่ได้เป็นค่าตอบแทนอันเกิดจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
3. กรณีตาม 3. กรณีบริษัทฯ ชำระเงินต้นคืนให้แก่บริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ ซึ่งเป็น ผู้ให้กู้เงิน
บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
เลขตู้: 64/30976


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020