เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9105
วันที่: 17 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการซ่อมรถยนต์ที่อยู่ในระหว่างสัญญารับประกันความเสียหาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, มาตรา 86, มาตรา 82/5, มาตรา 82/3, มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ BMW แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดย
บริษัทฯ จะดำเนินการสั่งซื้อรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในต่างประเทศจาก บริษัท A ตั้งอยู่ในประเทศ
เยอรมัน และที่ประกอบในประเทศจากบริษัท B จำกัด เนื่องจากการซื้อขายทั้ง 2 กรณีดังกล่าวเป็นการ
ซื้อขายภายในกลุ่มบริษัท จึงไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร ในการจำหน่ายรถยนต์ BMW
ในประเทศไทย บริษัทฯ ได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอิสระ โดยจัดทำเป็นสัญญา 2 ฝ่ายตามรายละเอียดดัง
ต่อไปนี้
(1) กรณีตัวแทนจำหน่ายซื้อรถยนต์จากบริษัทฯ และชำระราคาก่อนหรือเมื่อได้ รับรถยนต์หรือ
ตามที่บริษัทฯ กำหนด บริษัทฯ จะรับประกันความเสียหายอันเนื่องจากขั้นตอนการผลิตรถยนต์เป็นเวลา
12 เดือนนับแต่วันจดทะเบียนรถยนต์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับประกันความเสียหายต่อชิ้นส่วนตลอด
ระยะเวลารับประกันรถยนต์
(2) กรณีตัวแทนจำหน่ายขายรถยนต์ให้กับลูกค้า ตัวแทนจำหน่ายจะต้องรับประกัน
ความเสียหายต่อลูกค้าอย่างน้อยเท่ากับมาตรฐานที่บริษัทฯ ได้ให้กับตัวแทนจำหน่าย ทั้งนี้ ตัวแทนจำหน่าย
และลูกค้าจะต้องกรอกรายละเอียด ลงนามในเอกสารรับประกัน และส่งสำเนาคืนให้บริษัทฯ ภายใน 14
วันนับแต่วันที่ขาย (ส่งมอบ) เพื่อให้การรับประกันมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม การ ซื้อขายรถยนต์
ระหว่างตัวแทนจำหน่ายกับลูกค้าจะไม่มีการจัดทำสัญญาซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงหลักฐานเรียก
ชำระเงินและใบเสร็จรับเงิน พร้อมเอกสารรับประกันที่ลงนามโดยตัวแทนและลูกค้าตามแบบฟอร์มที่บริษัทฯ
กำหนด
(3) กรณีรถยนต์เกิดความเสียหายและทำการซ่อมภายใต้เงื่อนไขการรับประกัน ลูกค้า
สามารถนำรถยนต์เข้ารับการซ่อมกับตัวแทนจำหน่ายรายใดก็ได้ที่สัญญากับบริษัทฯ โดย ลูกค้าไม่ต้องเสีย
ค่าบริการซ่อม ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายที่รับซ่อมรถยนต์สามารถเรียกเก็บเงินจากบริษัทฯ สำหรับค่าใช้จ่ายที่
เกิดขึ้นจากการซ่อมรถยนต์ให้กับลูกค้า และบริษัทฯ สามารถทำการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่าย
ให้กับตัวแทนจำหน่ายจากบริษัท A ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมัน หรือ บริษัท B จำกัด แล้วแต่กรณี
บริษัทฯ หารือว่า
1. เงินชดเชยที่บริษัทฯ จ่ายคืนให้แก่ตัวแทนจำหน่ายที่ทำการซ่อมรถยนต์ซึ่งอยู่ในระหว่าง
สัญญารับประกันความเสียหาย ตัวแทนจำหน่ายจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบริษัทฯ จะต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
2. เงินชดเชยที่บริษัทฯ เรียกและเก็บจากบริษัท A หรือบริษัท B จำกัด สำหรับการจ่ายให้
กับตัวแทนจำหน่ายที่ทำการซ่อมรถยนต์ให้กับลูกค้าภายใต้เงื่อนไขการรับประกัน บริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบริษัท B จำกัด มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีลูกค้าได้นำรถยนต์ไปรับบริการซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ที่ตัวแทนจำหน่ายรายใด ๆ ซึ่งมี
สัญญากับบริษัทฯ ในระหว่างสัญญารับประกันความเสียหายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ถือเป็น
การปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับตัวแทนจำหน่าย ตัวแทนจำหน่ายไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี
ให้แก่ลูกค้าสำหรับการให้บริการดังกล่าว กรณีเงินชดเชยที่บริษัทฯ จ่ายให้กับตัวแทนจำหน่าย ถือเป็นการ
จ่ายค่าตอบแทนจากการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ตัวแทนจำหน่ายจึงต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้บริษัทฯ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 86 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ใบกำกับภาษีดังกล่าวหากไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง เนื่องจากเงินชดเชยที่ตัวแทนจำหน่ายได้รับคืนจากบริษัทฯ ถือเป็นเงินได้จากการ
รับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8(2) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
2. กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บเงินชดเชยหรือค่าบริการคืนจากบริษัท B จำกัด สำหรับการจ่ายให้
กับตัวแทนจำหน่ายที่ทำการซ่อมรถยนต์ให้กับลูกค้าภายใต้เงื่อนไขการรับประกัน การจ่ายเงินชดเชย
ดังกล่าวเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าที่บริษัทฯ ได้รับคืน เงินชดเชยดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นค่าตอบแทน
จากการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ จึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท B จำกัด และเงินชดเชยดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็น
เงินได้จากการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัท B จำกัด
จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
เลขตู้: 64/30927


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020