เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.8812
วันที่: 10 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการยกขนหรือเคลื่อนย้ายสินค้าและตู้สินค้าในสถานที่บริการรับฝากตู้สินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 ฯ,มาตรา 86, มาตรา 81(1)(ณ)
ข้อหารือ: บริษัท K ได้เริ่มประกอบการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ประกอบกิจการ ขนส่งทั่ว
ราชอาณาจักร ลานวางตู้สินค้า (CD) ยกตู้สินค้า (เฉพาะตู้สินค้าที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ สินค้า) ทำ
ความสะอาดตู้สินค้า นายหน้าและตัวแทนชิปปิ้งเดินพิธีการศุลกากร โดยได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
แล้ว จึงหารือว่า การให้บริการดังต่อไปนี้บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำสั่งของ
กรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 ฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2544 หรือไม่ คือ
1. การให้บริการวางตู้สินค้า (CD) การยกตู้สินค้า (เฉพาะตู้ที่มิได้บรรจุสินค้า) การทำ
ความสะอาดตู้สินค้า การตรวจสภาพเพื่อการทำอุณหภูมิตู้สินค้าในบริเวณลานวางตู้สินค้า (CD) ซึ่งบริษัทฯ
ได้เรียกเก็บจากลูกค้ารายเดียวทุกรายการ บริษัทฯ มีสิทธิในการออกใบกำกับภาษี หรือไม่
2. การลากตู้สินค้าจากท่าเรือไปยังโรงงานลูกค้าเพื่อบรรจุสินค้า หรือจากโรงงานลูกค้าที่
บรรจุสินค้าแล้วไปยังท่าเรือ โดยมิได้ให้บริการอื่นใดอีก ซึ่งลูกค้าเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกสินค้า บริษัทฯ
มีสิทธิออกใบกำกับภาษีหรือไม่ 3. การเคลื่อนย้ายตู้สินค้า (ที่ไม่มีการบรรจุสินค้า) โดยเครน ขึ้น-ลง
หางพ่วงในลานวางตู้สินค้าของบริษัทฯ ให้ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทขนส่งอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกสินค้า
บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. การยกตู้สินค้า การทำความสะอาดตู้สินค้า และการตรวจสภาพเพื่อการทำ
อุณหภูมิตู้สินค้าในบริเวณลานวางตู้สินค้า (CD) เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10)
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยบริษัทฯ ต้องนำค่าบริการทั้งหมดที่ได้รับมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 ฯ
ดังนั้น บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษี มูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ให้บริการลากตู้สินค้า โดยรถบรรทุกจากท่าเรือไปยัง โรงงานของ
ลูกค้า หรือจากโรงงานของลูกค้าไปยังท่าเรือ โดยไม่ได้ให้บริการอื่นใดอีก เข้าลักษณะเป็นการ
ประกอบกิจการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
ดังนั้น บริษัทฯ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ
3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ ให้บริการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า (ที่ไม่มีการบรรจุสินค้า) โดยใช้เครน
ขึ้น-ลง หางพ่วง ในลานวางตู้สินค้าของบริษัทฯ ให้กับบริษัทขนส่งอื่น ๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ
ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2
แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
ดังนั้น บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30911

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020