เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/8810
วันที่: 10 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเป็นตัวแทนสนับสนุนการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/4(2), พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 246) พ.ศ. 2534 ฯ, มาตรา 50(2), พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทฯ ได้รับการติดต่อจาก
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหลายแห่ง ให้เป็นตัวแทนสนับสนุนการซื้อและขายหน่วยลงทุนของ
กองทุนรวมต่าง ๆ โดยบริษัทฯ จะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน เนื่องจากเพื่อความสะดวกและ
คล่องตัวในการปฏิบัติของทั้งลูกค้าและบริษัทฯ เอง บริษัทฯ จึงใช้วิธีเดียวกับที่บริษัทฯ เป็น นายหน้า
ตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. ค่าธรรมเนียมที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนรวม บริษัทฯ จะต้องนำไปเสียภาษี มูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 7.0 ใช่หรือไม่
2. เงินส่วนแบ่งของกำไรและเงินกำไรจากการขายหน่วยลงทุนที่กองทุนรวมจ่ายให้บริษัทฯ
และบริษัทฯ ได้จ่ายต่อให้แก่ลูกค้าแต่ละรายทั้งหมด บริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ของบริษัทฯ
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
3. การจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรและเงินกำไรจากการขายหน่วยลงทุนทุกครั้ง หากต้องมี
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในกรณีนี้จะเป็นหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหรือของบริษัทฯ
หากเป็นหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะมีปัญหาว่า ไม่ทราบว่าจ่ายให้แก่ลูกค้ารายใดบ้าง
เพราะบริษัทฯ จะเป็นผู้รู้สถานะของลูกค้าแต่ละรายว่าจ่ายให้แก่ลูกค้ารายใดบ้าง เป็นเงินเท่าไร เมื่อ
บริษัทฯ หักแล้วจะนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งคล้ายกับการที่บริษัทฯ เป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์และปิด
โอนชื่อหลักทรัพย์ของลูกค้าในนามของบริษัทฯ แทนบริษัทฯ จะแจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการถือหุ้นแทน
เพื่อจะได้ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และบริษัทฯ จะทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายให้แก่ลูกค้าเอง รวมทั้งนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากรด้วย
4. หากบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรที่ลูกค้าซึ่งเป็น
บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่ลูกค้าได้รับจาก
บริษัทฯ ลูกค้าจะนำมาเป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้หรือเป็นหลักฐานในกรณีที่จะเลือกเสียภาษี
ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามปกติตอนสิ้นปีได้หรือไม่
5. กรณีลูกค้าเป็นนิติบุคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและ
กระทำกิจการในประเทศไทยได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร ลูกค้าจะเสียสิทธิที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำ
เงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเงื่อนเวลาในการถือหน่วยลงทุน
นั้นหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 1 การประกอบกิจการให้บริการนายหน้าและตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนของ
กองทุนรวมต่าง ๆ เป็นกิจการซึ่งถูกกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา
91/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร และตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การกำหนดกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้
เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) พ.ศ. 2534 บริษัทฯ ต้องนำค่าธรรมเนียมที่ได้รับไป
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0
2. ตามข้อ 2 เนื่องจากบริษัทฯ มีหลักฐานการซื้อขายหน่วยลงทุนแทนลูกค้า และมี ข้อผูกพัน
จะต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรและเงินกำไรจากการขายหน่วยลงทุนให้แก่ลูกค้าตามที่ ตกลงกันไว้ใน
นั้น ประกอบกับบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นตัวแทนการซื้อและขาย หลักทรัพย์โดยเป็น
สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว กรณีดังกล่าวถือได้ว่า การซื้อขายหน่วยลงทุนที่บริษัทฯ
ได้ซื้อไว้นั้นเป็นการซื้อแทนลูกค้า เงินส่วนแบ่งของกำไรและเงินกำไรจากการขายหน่วยลงทุนไม่เข้า
ลักษณะเป็นเงินได้ของบริษัทฯ ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
3. ตามข้อ 3 และข้อ 4 เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับ หาก
ผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา
ร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่ง ของกำไร
ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูก หักไว้นั้นคืน
หรือไม่ขอเครดิตภาษีถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536
ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนสนับสนุนการซื้อและขายหน่วย ลงทุนของ
กองทุนต่าง ๆ และในทางปฏิบัติ บริษัทฯ จะเป็นผู้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรและเงินกำไรจากการขาย
หน่วยลงทุนแทนลูกค้าของตน เนื่องจากกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าว จะไม่ทราบเลยว่าผู้มีเงินได้
ที่แท้จริงคือผู้ใด ดังนั้น เงินส่วนแบ่งของกำไรและเงินกำไรจากการขายหน่วยลงทุนที่บริษัทฯ ได้รับไว้
แทนและบริษัทฯ ได้จ่ายต่อไปให้กับลูกค้า ให้บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร
ด้วย
4. ตามข้อ 5 เงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
หรือบริษัทจดทะเบียนได้รับจากกองทุนรวม ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ต่อเมื่อเป็นไปตามมาตรา 3 แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 263) พ.ศ.
2536
เลขตู้: 64/30909

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020