เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/8716
วันที่: 6 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีภริยาโอนอสังหาริมทรัพย์ให้สามี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 1471 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 91/1(4), มาตรา 3(6) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534, มาตรา 89/1, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง
ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์
เป็นทางการค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: นาง ม. ได้รับหนังสือจากกรมสรรพากรให้ไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินให้แก่
นาย ส. นาง ม. ได้โต้แย้งว่าเป็นการโอนให้สามี ไม่ได้เป็นการซื้อขายกัน และได้ชี้แจงว่า นาง ม.
ได้สมรสกับนาย ส. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2520 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 นาง ม.ได้รับ
ที่ดินจากการยกให้จากมารดาของตน นาง ม. ต้องการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว จึงไปขอ กู้เงิน
จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารฯ มีเงื่อนไขว่าต้องมีชื่อสามีในโฉนดด้วยจึงจะให้กู้ นาง ม. จึง
เพิ่มชื่อสามีให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 นาง ม. ขอหารือว่า การมี
กรรมสิทธิ์ร่วมถือเป็นการซื้อขายหรือไม่ ซึ่งตามความเข้าใจของนาง ม. เห็นว่า สามีภรรยา คือ บุคคล
คนเดียวกัน เพราะถ้าสามีมีหนี้สิน กฎหมายให้ภรรยาร่วมชดใช้ และในกรณีนี้ทำไมต้องเสียเงินเพิ่ม
จำนวน 70 เดือน เป็นเงิน 7,500 บาท
สำนักงานสรรพากรภาค เห็นว่า นาง ม. ได้ที่ดินจากการที่มารดายกให้ในระหว่างสมรส ซึ่ง
ถือเป็นสินส่วนตัว ตามมาตรา 1471(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่นาง ม. ได้ยินยอม
ให้ใส่ชื่อสามีให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน จึงเป็นการยกให้ในส่วนของตนครึ่งหนึ่ง ถือเป็นการขาย ตาม
มาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา เข้าลักษณะเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
เมื่อนาง ม. มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) ภายในกำหนดเวลา จึง
ต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษี ตามมาตรา 91/21(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยมาตรา 89(2) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: กรณีนาง ม. ได้ที่ดินมาจากการยกให้ของมารดาในระหว่างสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว ตาม
มาตรา 1471(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่นาง ม. ยอมให้นาย ส. เข้าถือ
กรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 เป็นการยกให้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่ดินทั้งหมด ถือ
เป็นการขาย ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้
กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น
ทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร และถ้ามิได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะภายใน
กำหนดเวลาต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือ
นำส่ง แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษี ตามมาตรา 89/1 และมาตรา 91/21(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่ขณะนี้กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการ
ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ขยายกำหนดเวลาการ
ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปี
นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.
2534 ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ก่อนวันที่ 31 มกราคม 2542 โดย
ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะภายในเดือนตุลาคม 2544 ซึ่ง
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับแต่ต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือน
หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 และมาตรา
91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ประกาศดังกล่าวไม่มีผลต่อภาษีอากรที่ได้เสียหรือชำระไปแล้วหรือที่
ได้รับแจ้งการประเมินภาษีไปแล้วก่อนวันที่ที่ลงในประกาศฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 64/30907

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020