เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/8543
วันที่: 31 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางเนื่องจากไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(1), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.59/2528ฯ, มาตรา 50(1)
ข้อหารือ: บริษัท ตะนาว ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศ
สหรัฐอเมริกา ประกอบกิจการ ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ โดยมีสำนักงาน
สาขาในประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 130 –132 อาคารสินธรทาวเวอร์ 3 ชั้น 14 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ
ได้ขอหารือเกี่ยวกับปัญหาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่สำนักงานสาขาฯ จ่ายให้
แก่พนักงานเนื่องจากการไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
1. สำนักงานสาขาในประเทศไทยของบริษัทฯ ได้ว่าจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งเป็น
ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย พนักงานต้อนรับเหล่านี้นอกจากจะได้รับเงินเดือนประจำแล้ว ยังได้รับ
ประโยชน์เพิ่มจากการจ้างแรงงานอย่างอื่น อาทิ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งสาขาฯ เป็นผู้จ่าย
พนักงานต้อนรับจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในระหว่างการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินในอัตรา
เหมาจ่ายเป็นรายวัน เพื่อชดเชย ค่าอาหาร ในขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่างประเทศเป็นครั้งคราว เป็น
จำนวนเงินแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเส้นทางการบิน ซึ่งจะอยู่ในระหว่าง 2,000 บาท ถึง 2,500 บาท ต่อ
วัน การจ่ายจะกระทำเป็นรายเดือนทุกวันที่ 10 ของเดือน
2. ปัจจุบันสาขาฯ ได้นำเอาค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางทั้งจำนวนมารวมเป็นเงินได้ของพนักงาน
เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1) อย่างไรก็ดี สาขาได้รับ
คำแนะนำว่า วิธีการที่สาขาปฏิบัติอยู่ไม่ถูกต้อง สาขาฯ ควรนำค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางเฉพาะส่วนที่เกิน
1,750 บาท มารวมคำนวณเป็นเงินได้ของพนักงาน เพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากการจ่ายเบี้ยเลี้ยง
เดินทางในอัตราที่กำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(2) เฉพาะส่วนที่เกินอัตราดังกล่าวเท่านั้นที่จะ
ต้องเสีย
บริษัทฯ จึงขอหารือว่าวิธีการที่สำนักงานสาขาฯ ถือปฏิบัติในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามที่
แจ้งมาถูกต้องหรือไม่ ประการใด
แนววินิจฉัย: กรณีที่สำนักงานสาขาฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางให้แก่พนักงานต้อนรับในระหว่าง
การเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่างประเทศเป็นครั้งคราวในอัตราระหว่าง 2,000 บาท ถึง 2,500
บาทต่อวัน ซึ่งเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการในการเดินทาง
ไปราชการในต่างประเทศ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
พ.ศ. 2526 ประกอบกับข้อ 10 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
และค่าเช่าที่พักในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2534 และบัญชีหมายเลข 3 ท้ายระเบียบฯ ดังกล่าว
ประเภท ข. ซึ่งให้เบิกเหมาจ่ายกำหนดในอัตรา 1,750 บาทต่อวัน นั้น หากพนักงานที่ได้รับ
ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางจากสำนักงานสาขาฯ ในอัตราที่เกินกว่าอัตราดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้
จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดใน
การนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตรา 1,750 บาทต่อวัน เป็นค่า เบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคล
นั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นฯ และได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ
1(3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.59/2538
สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในส่วนที่เกินอัตรา 1,750 บาทต่อวัน นั้น สำนักงานสาขาฯ จะ
ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ของพนักงานเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ต่อไป
เลขตู้: 64/30898

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020