เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./8381
วันที่: 28 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ท), มาตรา 77/2(1), มาตรา 77/1(8)(ค), มาตรา 77/1(13)(14),ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: ศูนย์ฯ ได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับการคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. ศูนย์ฯ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดำเนินการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และ
กระสุนชนิดต่าง ๆ เพื่อขายให้กองทัพบก ส่วนราชการอื่น เอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงินทุน
หมุนเวียน (เงินนอกงบประมาณ) ที่กระทรวงการคลังอนุมัติ
2. เมื่อมีการซื้อวัตถุดิบ เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อนำมาผลิต ราคาวัสดุตามใบส่งของ/
ใบกำกับภาษีของบริษัทฯ ห้างร้านต่าง ๆ ได้รวมมูลค่าการซื้อ โดยทางศูนย์ฯ ต้องเบิกเงินจาก
กระทรวงการคลัง หรือคลังจังหวัด เพื่อนำมาจ่ายให้แก่บริษัท ห้างร้านที่ส่งของนั้น ๆ
3. วัตถุดิบ เครื่องมือ เครื่องใช้ และค่าสาธารณูปโภคที่ศูนย์ฯ จ่ายเงินไปเพื่อนำมาผลิต
อาวุธยุทโธปกรณ์ และกระสุนชนิดต่าง ๆ เป็นการผลิตที่มิได้แยกประเภทไว้ว่าเป็นการผลิตเพื่อขายให้แก่
กองทัพบก ส่วนราชการ หรือเอกชน (ต่างประเทศ)
4. รายได้จากการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ และกระสุนให้แก่กองทัพบกไม่ได้คิดภาษีขายตาม
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้ทั้งหมดจะนำส่งกระทรวงการคลัง สำหรับรายได้ที่ขายให้เอกชน
(ต่างประเทศ) มีการคิดภาษีขาย และนำส่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่
5. รายได้ที่ศูนย์ฯ นำส่งกระทรวงการคลังจะมีเบิกจากกระทรวงการคลังหรือคลังจังหวัด
เพื่อนำมาจ่ายค่าวัตถุดิบ เครื่องมือ เครื่องใช้ และค่าสาธารณูปโภค ตามข้อ 2 หมุนเวียนเช่นนี้
ศูนย์ฯ จึงหารือว่า
1. ศูนย์ฯ มีสิทธินำภาษีซื้อ ซึ่งเกิดจากการซื้อสินค้ากับบริษัท ห้างร้าน ในแต่ละเดือน มารวม
คำนวณเพื่อยื่นแบบ ภ.พ.30 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
2. ศูนย์ฯ มีสิทธินำภาษีขาย ซึ่งเกิดจากการขายให้กับเอกชน (ต่างประเทศ) ใน แต่ละ
เดือนมาหักจากภาษีซื้อได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานที่กองทัพบกจัดตั้งขึ้นเพื่อวิจัย พัฒนา และผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์
และกระสุนชนิดต่าง ๆ โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ และกระสุนชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตได้ ศูนย์ฯ จะขายให้แก่
ส่วนราชการและเอกชนดังนี้
1.1 กรณีขายให้แก่กองทัพบก โดยรายได้ทั้งหมดศูนย์ฯ นำส่งให้แก่
กระทรวงการคลัง เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐ
โดย ไม่หักรายจ่าย จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ท) แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีขายให้แก่เอกชนในประเทศ โดยรายได้ทั้งหมดศูนย์ฯ ไม่ได้นำส่งให้แก่
กระทรวงการคลังถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
1.3 กรณีขายให้แก่เอกชนต่างประเทศ โดยรายได้ทั้งหมดศูนย์ฯ ไม่ได้นำส่งให้แก่
กระทรวงการคลัง ถือเป็นการขายสินค้าโดยการส่งออก ตามมาตรา 77/1(8)(ค) และมาตรา
77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ศูนย์ฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงเป็นผู้ส่งออก ตามมาตรา
77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีศูนย์ฯ ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ และกระสุนชนิดต่าง ๆ ให้แก่กองทัพบก และเอกชนทั้ง
ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรายได้ที่ได้รับมีทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากศูนย์ฯ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อวัตถุดิบ
เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อนำมาผลิต เป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ศูนย์ฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะ
นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535
เลขตู้: 64/30880


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020