เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/8106
วันที่: 23 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้ กรณีเงินได้จากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนขายประกัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2), มาตรา 40(8), มาตรา 8 ทวิ, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502ฯ
ข้อหารือ: ท่านประกอบกิจการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยของบริษัท ชิบ โดยตั้งเป็น
สำนักงานตัวแทน จุฬา เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติงานให้บริการลูกค้า มีหนังสือยืนยันการจัดตั้งสำนักงานจาก
บริษัท ชิบ มีการลงทุนซื้ออาคารสำนักงาน จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ ค่าจ้างลูกจ้างหรือพนักงาน
ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่อหาลูกค้า มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ และมี
หนังสือรับรองจากบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้ ซึ่งถือเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร กิจการไม่สะดวกในการเก็บเอกสารสำหรับ
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขอหารือว่าจะขอหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของ
เงินได้พึงประเมินได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: เงินได้จากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับประกันวินาศภัยหรือ
กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับ
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท แต่ถ้าใน
กรณีที่ผู้ประกอบกิจการตั้งเป็นสำนักงาน ซึ่งต้องลงทุนจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีลูกจ้างพนักงานต้องจ่าย
เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่ารับรองหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่อหาลูกค้า ซึ่ง
เมื่อรวมทั้งปีแล้วสูงกว่าอัตราร้อยละดังกล่าว กรมสรรพากรอนุโลมให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8)
แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ตามมาตรา 8 ทวิ แห่ง
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจาก
เงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
สำหรับกรณีผู้ประกอบกิจการจะขอให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของ
เงินได้พึงประเมินนั้น ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวข้างต้นมิได้กำหนดไว้ จึงไม่สามารถกระทำได้
เลขตู้: 64/30856

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020