เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/7783
วันที่: 14 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าผ่านประตูเข้าและออกท่าเรือเอกชน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 101/2544ฯ
ข้อหารือ: สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย สมาคม
นายจ้างตัวแทนออกของสินค้าและพิธีการศุลกากร สมาคมนายจ้างตัวแทนออกของและขนส่ง และสมาคม
ผู้ประกอบการตัวแทนออกของไทย มีปัญหาทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย กรณีการจ่าย
ค่าผ่านทางประตูเข้าและออกท่าเรือเอกชน (GATE CHARGE) ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า ตัวแทนออกของ
(CUSTOMS BROKER) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกได้นำรถเทรเลอร์ไปใช้ขนส่ง
สินค้าผ่านเข้าประตูของท่าเรือเอกชน โดยท่าเรือเอกชนเก็บค่าบริการผ่านประตูคันละ 900 บาท และ
ท่าเรือเอกชนออกใบเสร็จรับเงินที่ประตูทางเข้านั้นเป็นรายคันแต่ละคัน ในการใช้รถเทรเลอร์ขนส่ง
สินค้าผ่านเข้าประตูท่าเรือในครั้งหนึ่ง (Shipment) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 คัน และไม่ได้เรียงลำดับกัน
เนื่องจากมีรถผ่านเข้าและออกประตูท่าเรือเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ใบเสร็จรับเงินค่าผ่านประตูจำนวน
10 ฉบับของรถเทรเลอร์จำนวน 10 คัน จึงไม่สามารถอ้างอิงรวมยอดเป็นชุดเดียวกันได้ อย่างไรก็ดี
หากรวมมูลค่าตามใบเสร็จรับเงินที่ท่าเรือเอกชนเรียกเก็บจากรถเทรเลอร์จำนวน 10 คัน จะเป็นเงิน
รวมทั้งสิ้น 9,000 บาท สมาคมฯหารือว่า การจ่ายค่าบริการผ่านประตูคันละ 900 บาท อยู่ในบังคับต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ ดังความละเอียดแจ้งอยู่แล้ว
แนววินิจฉัย: กรณีตัวแทนออกของเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายค่าบริการผ่านประตูเข้า
และออกท่าเรือเอกชนให้กับท่าเรือเอกชน ถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าบริการ
ผ่านประตูคันละ 900 บาท และท่าเรือเอกชนได้ออกใบเสร็จรับเงินที่ประตูทางเข้านั้นเป็นรายคันแต่ละ
คัน ซึ่งเป็นการจ่ายตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาทผู้จ่ายเงินจึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.
2544
เลขตู้: 64/30801


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020