เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./ก.332
วันที่: 9 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการขนส่งสินค้าและทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ หารือสำนักงานสรรพากรจังหวัดกรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับการจัดหา
แรงงานเข้าทำงานในบริเวณท่าเรือน้ำลึก จังหวัดสงขลา และท่าเรือสินค้าทั่วไป ลักษณะการทำงาน คือ
ขนถ่ายสินค้าโดยการลำเลียงสินค้าเข้าเก็บในโกดังสินค้าที่ท่าเรือ ขนลงเรือ หรือขนบรรจุเข้าตู้
คอนเทนเนอร์ (CNTR) เมื่อท่าเรือฯ มีสินค้าจะแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการ เช่น ขนยางพารา (Bale)
ลงจากรถบรรทุกสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้า ขนยางพาราจากโรงพักสินค้าลงเรือ โดยใช้รถโฟล์คลิฟ
(F/L) กะบะเหล็ก คนขับ F/L และคนงาน แยกทำงานเป็นกลุ่ม ๆ ละ 15 คน สำหรับการบรรจุ
ยางพาราเข้าตู้คอนเทนเนอร์ (CNTR) ท่าเรือฯ ก็จัดหาตู้ที่ Agent แจ้งมา สั่งให้พนักงานขับรถ Top
Loader (รถบรรทุกของหนัก) ยก ตู้ฯ มาวางให้ที่ลานบรรจุตู้ แล้วให้คนงานเขี่ยยางจากรถบรรทุก
สินค้าเข้าตู้ฯ หรืออีกกรณีหนึ่งใช้รถ F/L ยกสินค้าจากโกดังเก็บสินค้าเข้าบรรจุตู้ฯ เมื่อครบจำนวน และ
ได้คุณภาพแล้วจึงปิดและ Seal ตู้ จากนั้นก็จะสั่งให้พนักงานขับรถ Top Loader ยกตู้ฯ เข้ากองเก็บ
หรือหากมีเรือบรรทุกสินค้ามารออยู่แล้ว ก็จะยกตู้ฯ ขึ้นรถเทรลเลอร์ (Trailer) นำไปวางที่หน้า
ท่าเรือ แล้วจึงยกตู้ฯ ลงเรือ (Loading) เมื่อทำงานเสร็จบริษัทฯ ก็จะรวบรวมงานเพื่อคิดค่าบริการ
และนำจ่ายให้แก่คนงานทุก ๆ สัปดาห์ โดยบริษัทฯ มิได้ดำเนินการ หรือให้บริการอย่างอื่นนอกเหนือจาก
กิจการ ดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษี
มูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ใช่หรือไม่
สำนักงานสรรพากรจังหวัดเห็นว่า หากบริษัทฯ ประกอบกิจการรับขนส่งโดยไม่ได้ให้บริการ
และรับผิดอย่างอื่นนอกเหนือจากการขนส่งด้วยแล้ว การประกอบ กิจการของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการ
ให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า ตามสัญญาจ้างแรงงาน (Contract For Labour
Services) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2539 บริษัท F ได้ตกลงว่าจ้างบริษัทฯ ดำเนินการขนถ่ายสินค้าขึ้น/
ลง จากรถบรรทุกสินค้า และบรรจุ/ขนถ่ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งการขนย้ายอื่น ๆ ซึ่ง
เกี่ยวข้องกับสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ ทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ และให้บริการแรงงานบนเรือ
บรรทุกสินค้า กรณีตามข้อเท็จจริงเป็นการประกอบกิจการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่การทำความสะอาดตู้
คอนเทนเนอร์ ซึ่งถือเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: บริษัทฯ แจ้งว่า ประกอบกิจการขนส่งในราชอาณาจักร โดยมิได้ให้บริการอย่างอื่น แต่จาก
การตรวจสอบสัญญาแรงงาน ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2539 ระหว่างบริษัท F (ผู้ว่าจ้าง) กับบริษัทฯ
(ผู้รับจ้าง) ปรากฏว่า ผู้ว่าจ้างได้ตกลงจ้างบริษัทฯ ขนย้ายสินค้าในบริเวณท่าเรือสงขลา ดังนี้
- ให้บริการแรงงานบนเรือ ทั้งเรือสินค้าเทกอง และเรือตู้คอนเทนเนอร์
- ขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลง จากรถบรรทุก บรรจุและขนถ่ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์
- ทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งกวาดและล้างตู้
- การขนย้ายอื่น ๆ หากได้รับการร้องขอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสินค้าและตู้สินค้าคอน
- เทนเนอร์บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาลูกจ้างเพื่อปฏิบัติงานตามสัญญา โดยได้รับค่าจ้างตามจำนวน
งานที่ได้ทำจริง กำหนดจ่ายค่าจ้างอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ตามข้อเท็จจริง สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่บริษัทฯ ผู้รับจ้างตกลงรับจ้างขนย้ายสินค้าในบริเวณ
ท่าเรือโดยใช้แรงงานคน กล่าวคือ รับจ้างขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงจากรถบรรทุก และจากตู้คอนเทนเนอร์
ขนย้ายสินค้าและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ และให้บริการทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ กรณีดังกล่าวเป็น
การให้บริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ ตามข้อ 1(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป.106/2544 เรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการของผู้ประกอบกิจการท่าเรือ และ
ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือ ลงวันที่ 13
มิถุนายน พ.ศ.2544 ดังนั้น การประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือดังกล่าว จึงเข้า
ลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
106/2544 ฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2544
เลขตู้: 64/30779


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020