เลขที่หนังสือ | : กค 0811/ก.129 |
วันที่ | : 6 สิงหาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีอสังหาริมทรัพย์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39 |
ข้อหารือ | : นางสาว ดี ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนประเภทกรรมสิทธิ์รวม (โอนตามคำสั่งศาล) ไม่มีค่าตอบแทนในโฉนดที่ดินเลขที่ 7587 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3188/2543 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ระหว่าง นายน้อย โดยนางสาวดี ผู้ เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ นางมาก จำเลย เรื่องมรดกเพิกถอนนิติกรรมซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกา ดังกล่าวพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมบ้านในที่ดินนั้น เป็นมรดกของนายคำ เจ้ามรดก การที่นาง มาก ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำ โอนที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ตนเองใน ฐานะส่วนตัวไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดกเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ ชอบและเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจให้นางมาก (จำเลย) แบ่งแยกและโอนที่ดินแปลงดังกล่าว ให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วน และให้นางมากแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนบ้านที่ปลูกสร้างในที่ดินให้โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเห็นว่ากรณีดังกล่าวต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา ร้อยละ 2 จากราคาประเมินตามข้อ 2(7)(ก) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตาม ความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และเรียกเก็บภาษีเงินได้ตาม ประมวลรัษฎากร กรมที่ดินเห็นว่าตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ นายคำ แม้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจะโอนให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวก็ต้องถือว่าเป็นการ ครอบครองแทนทายาททุกคนต่อไป การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองผู้เดียว ไม่ยอมแบ่งให้แก่ทายาทผู้ตายทุกคนตามส่วน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบและปราศจากอำนาจจึง พิพากษาให้นางมาก จำเลย แบ่งแยกที่ดินและบ้านให้โจทก์ตามสัดส่วนที่กำหนดนั้นย่อมหมายความว่า ศาลฎีกาพิพากษาให้นางมาก แบ่งแยกและโอนมรดกให้โจทก์ การเข้าถือกรรมสิทธิ์รวม (โอนตาม คำสั่งศาล) ในกรณีนี้จึงเป็นกรณีที่นางมาก ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านอันเป็นมรดกของนายคำ ผู้ตายไว้ แทนทายาทของนายคำ โอนมรดกคืนให้แก่ทายาทของนายคำ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาย คำ จึงต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 จากราคาประเมินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541)ฯ ข้อ 2(7)(ก) และเมื่อถือว่าเป็นการโอนมรดกแล้ว กรณีนี้จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสีย ภาษีเงินได้แต่อย่างใด |
แนววินิจฉัย | : กรณีปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใน อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นมรดกแทนตัวการเมื่อตัวแทนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใน อสังหาริมทรัพย์คืนให้แก่ตัวการโดยไม่ได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนการโอนดังกล่าวไม่ ถือเป็นการ ขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ |
เลขตู้ | : 64/30766 |