เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./ก.123
วันที่: 6 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินของธุรกิจเช่าซื้อ/ซื้อขายผ่อนชำระ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4, มาตรา 77/1(8)(ก), มาตรา 78/2, มาตรา 86/12, มาตรา 86/10
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเช่าซื้อ/ซื้อขายผ่อนชำระสินค้าประเภทเครื่องใช้สำนักงาน อาทิ
เครื่องถ่ายเอกสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องอัดสำเนา ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
ออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินเมื่อได้รับเงินค่างวด ซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มแรก
ของบริษัทฯ ต้องการใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน ก่อนวันครบชำระที่ระบุในสัญญา เพื่อตั้งเบิกโดยนัดให้
บริษัทฯ วางบิลตามรอบการวางบิลของลูกค้า ขณะที่ลูกค้ากลุ่มที่สองต้องการใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน
ณ วันครบกำหนดค่างวดในสัญญา บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. บริษัทฯ สามารถใช้เลขที่ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงิน เป็นเลขเดียวกันได้หรือไม่
2. บริษัทฯ สามารถใช้ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงิน เป็นชุดเดียวกันได้หรือไม่
3. บริษัทฯ สามารถออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงิน ก่อนวันครบกำหนดชำระค่างวดตาม
ระบุในสัญญา ได้หรือไม่
4. บริษัทฯ สามารถออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงิน หลังวันครบกำหนดชำระค่างวดตาม
ระบุในสัญญา ได้หรือไม่ (กรณีที่ทำสัญญาจ่ายชำระเงินค่างวดทุกวันที่ 30 แต่ใบกำกับภาษีออกวันที่ 1
เดือนถัดไป โดยบริษัทฯ ชำระภาษีในเดือนที่ออกใบกำกับภาษีนั้น)
5. กรณีธนาคารลูกค้าปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ซึ่งบริษัทฯ ออกใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า
แล้ว เมื่อลูกค้าจ่ายเช็คฉบับใหม่แทนฉบับเก่า หรือจ่ายเงินสดแทน บริษัทฯ สามารถออก ใบเสร็จรับเงิน
อีก 1 ใบ ได้หรือไม่
6. กรณีลูกค้าทำใบกำกับภาษีสูญหาย หรือต้องการลงบัญชีเดือนถัดจากเดือนที่บริษัทฯ
ออกใบกำกับภาษี เช่น ใบกำกับภาษีเดิมที่บริษัทฯ ออกวันที่ 30/3 แต่ลูกค้านัดวางบิลพร้อมรับ
ใบกำกับภาษีวันที่ 5/4 และร้องขอบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีใหม่วันที่ 5/4 แทน บริษัทฯ สามารถออก
ใบลดหนี้ และจัดทำใบกำกับภาษีใหม่แทนใบกำกับภาษีเดิมได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อหรือซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้า ยังไม่โอน
ไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หาก
ใบกำกับภาษีดังกล่าวมีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็น
ใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ ดังนั้น บริษัทฯ สามารถจัดทำใบกำกับภาษีและ
ใบเสร็จรับเงินฉบับเดียวกัน โดยมีเลขที่เดียวกันได้
2. การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอน
ไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร และ
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละ
งวด เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่า
ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
(ก) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
(ข) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 78(2)
แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
2.1 กรณีผู้เช่าซื้อชำระราคาค่างวดตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดบริษัทฯ ต้อง
จัดทำใบกำกับภาษีทันทีที่ถึงกำหนดชำระราคาตามงวดแต่ละงวด และจัดทำใบเสร็จ รับเงินตามวันที่ชำระ
ราคาค่างวดด้วย
2.2 กรณีผู้เช่าซื้อชำระราคาค่างวดก่อนวันถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดบริษัทฯ ต้อง
จัดทำใบกำกับภาษีทันทีที่ได้รับชำระราคาค่างวด แม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด และจัดทำ
ใบเสร็จรับเงินตามวันที่ชำระราคาค่างวดด้วย
2.3 กรณีผู้เช่าซื้อชำระราคาค่างวดภายหลังวันถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดบริษัทฯ ต้อง
จัดทำใบกำกับภาษีในวันที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด และออกใบเสร็จรับเงินในวันที่ลูกค้าชำระราคา
ค่างวด
2.4 กรณีผู้ให้เช่าซื้อ (บริษัทฯ) จัดทำใบกำกับภาษีก่อนวันถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด
ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นทันทีในวันที่ออกใบกำกับภาษี เมื่อบริษัทฯ
ได้รับชำระราคาค่างวด จึงจัดทำใบเสร็จรับเงิน
3. กรณีบริษัทฯ จัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการให้เช่าซื้อสินค้าหรือการขายผ่อนชำระที่
กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบตามมาตรา 78(2) และมาตรา 86 แห่ง
ประมวลรัษฎากรแล้ว ต่อมาลูกค้าชำระค่างวดเช่าซื้อด้วยเช็ค และบริษัทฯ ออกใบเสร็จรับเงินตามเช็ค
ไปแล้ว เมื่อลูกค้าจ่ายเช็คฉบับใหม่แทนฉบับเดิม บริษัทฯ สามารถออกใบเสร็จรับเงินตามวันที่ลงในเช็ค
ฉบับใหม่ หรือวันที่ลูกค้าจ่ายเงินสดได้ และให้ยกเลิกใบเสร็จรับเงินฉบับเดิม
4. กรณีลูกค้าทำใบกำกับภาษีสูญหาย และร้องขอให้บริษัทฯ ออกใบแทนใบกำกับภาษีบริษัทฯ มี
หน้าที่ออกใบแทนใบกำกับภาษีให้ลูกค้า ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร และ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และ
เงื่อนไขเกี่ยวกับการออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ ใบแทนใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/12
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2535 กรณีบริษัทฯ ต้องการออก ใบลดหนี้ตามมาตรา
86/10 แห่งประมวลรัษฎากร หรือออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิม เพื่อให้ลูกค้าลงบัญชีใน
เดือนถัดไป บริษัทฯ ไม่สามารถกระทำได้
เลขตู้: 64/30761


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020