เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./7513
วันที่: 30 กรกฎาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ยื่นแบบแสดงรายการมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81/1, มาตรา 85/1, มาตรา 89/(1), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542ฯ
ข้อหารือ: 1. จังหวัดฯ ได้ตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น ราย นาย ก. ซึ่งประกอบกิจการจำหน่าย
ยางรถยนต์ พบว่าในปี พ.ศ. 2539 นาย ก. ประกอบกิจการ มียอดขายเกิน 600,000 บาท ซึ่งเกิน
มูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534 แต่นาย ก. มิได้ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
2. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2542 นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.31)
สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 – เดือนภาษีสิงหาคม 2541 โดยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
1.5 ของยอดขาย พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 40 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ และเงินเพิ่มตาม
กฎหมาย และจากผลการตรวจปฏิบัติการดังกล่าวพบว่า นาย ก. ไม่มียอดขายสำหรับเดือนภาษีกันยายน
- เดือนภาษีธันวาคม 2541 สำหรับเดือนภาษีมกราคม - เดือนภาษีธันวาคม 2542 นาย ก.
ประกอบกิจการมียอดขายรวมเป็นเงิน 352,790 บาท
3. จังหวัดฯ มีความเห็นว่า กรณีนาย ก. ยื่นแบบ ภ.พ.31 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 1.5 ของยอดขาย พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 40 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ และเงินเพิ่ม
ตามกฎหมาย สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 - เดือนภาษีสิงหาคม 2541 เป็นกรณีนาย ก. ชำระ
เบี้ยปรับไม่ครบถ้วนตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากนาย ก. มิใช่ผู้ประกอบการ
จดทะเบียนจึงไม่สามารถถือเอาแบบแสดงรายการเป็นคำร้อง ของดหรือลดเบี้ยปรับตามข้อ 1 วรรค 3
ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม
พ.ศ. 2534 ได้ และกรณีการรับผิดเสียเบี้ยปรับสำหรับเดือนภาษีกันยายน –เดือนภาษีธันวาคม 2541
ซึ่งนาย ก. ประกอบกิจการโดยไม่มียอดขาย นาย ก. ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อ
เดือนภาษี ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร และสำหรับเดือนภาษีมกราคม – เดือนภาษี
ธันวาคม 2542 นาย ก. ประกอบกิจการมียอดขายรวม 352,790 บาท ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
พร้อมเบี้ยปรับจำนวนสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร และ
เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
4. สภ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
4.1 นาย ก. ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย
ตั้งแต่วันที่มีรายรับเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ถึงแม้จะยังมิใช่เป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการฯ ก็ตาม นาย ก.สามารถมายื่น
แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ต้องรับผิดตามกฎหมายด้วยตัวเอง
ได้ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย
4.2 หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ก. มีรายรับจากการประกอบกิจการไม่เกิน
1,200,000 บาท ต่อปีแล้ว การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของนาย ก. ตาม 4.1 สำหรับ
เดือนภาษีมกราคม 2540 – เดือนภาษีสิงหาคม 2541 นั้น สามารถใช้สิทธิขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 1.5 ของยอดรายรับจากการประกอบกิจการได้
4.3 เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่นาย ก. ต้องรับผิดจากการยื่นแบบแสดงรายการ
จำนวนสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตาม 4.1 นั้น หากประสงค์จะขอใช้สิทธิในการลด เบี้ยปรับต้อง
ทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินแสดงเหตุที่จะขอลดเบี้ยปรับนั้น ไม่สามารถใช้
แบบแสดงรายการที่ยื่นไว้เป็นคำร้องได้ เนื่องจากนาย ก. มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน สำหรับกรณี
การลดเบี้ยปรับให้นาย ก. ตามจำนวนที่เสียไว้พร้อมกับการยื่นแบบฯ จำนวนร้อยละ 40 ของภาษีที่ต้อง
ชำระหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานประเมินสามารถใช้ดุลยพินิจได้เองตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากร
กำหนดไว้
4.4 สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2541 – เดือนภาษีธันวาคม 2541 ซึ่ง
เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วปรากฏว่านาย ก. ไม่มียอดขายนั้น เห็นว่า นาย ก. ต้องรับผิดเสีย
เบี้ยปรับเป็นเงิน 1,000 บาท ต่อเดือนภาษี ส่วนเดือนอื่น ๆ ที่มียอดขายจากการประกอบ กิจการนั้น
นาย ก. ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย ทั้งนี้ ตามมาตรา 89(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: 1. นาย ก. ประกอบกิจการจำหน่ายยางรถยนต์ ถือเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา
77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก. ในฐานะผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่น
คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2(1) และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรณี
ตามข้อเท็จจริงนาย ก. ประกอบกิจการมียอดขายเกิน 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาท
ต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 นาย ก. มีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่
มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามมาตรา
85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 237) พ.ศ.2534 โดยต้อง
คำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ตามมาตรา 80/2 และมาตรา 82/16 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 236) พ.ศ. 2534 เมื่อนาย ก. ไม่ได้ยื่น
คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นาย ก. ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงไม่มีหน้าที่ยื่น
แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การประกอบกิจการของนาย ก. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นการ
ประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
1.1 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 จากการขายสินค้าหรือให้บริการ
ตามมาตรา 77/2(1) มาตรา 80/2 และมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตลอดระยะเวลาที่
ประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษี แล้วแต่อย่างใดจะ
มากกว่ากัน ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร
1.3 เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้อง
ชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
1.4 ต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 90/2(2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. แม้นาย ก. มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม แต่นาย ก. ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2(1)แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินพบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ ตามมาตรา 88(1)แห่ง
ประมวลรัษฎากร และสำหรับอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินในการลดเบี้ยปรับเป็นไปตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และ
มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้
ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 37/2534 ฯ กรณีตามข้อเท็จจริง นาย ก. ได้ชำระเบี้ยปรับใน
อัตราร้อยละ 40 ของภาษีที่ต้องชำระ ซึ่งกรณีดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจในการพิจารณาลด
เบี้ยปรับตามข้อ 5(3) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ แต่อย่างใด เนื่องจากนาย ก.
มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังนั้น อำนาจในการพิจารณาลดเบี้ยปรับดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของ
อธิบดีกรมสรรพากร
3. อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.31) สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 – เดือนภาษีสิงหาคม 2541 โดยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 1.5 ของยอดขาย พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 40 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระและ
เงินเพิ่มตามกฎหมายไปแล้ว จึงให้ลดเบี้ยปรับได้ ตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง และข้อ 11 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 ฯ
4. กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวของ นาย ก. ให้
สิ้นสุดในเดือนภาษีมีนาคม 2542 เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534 ได้ถูกยกเลิก
โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 ซึ่งได้กำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม
ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องไม่เกิน 1,200,000 บาท ต่อปี มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่
1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2534 ยังคงใช้บังคับต่อไป
เฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค้างอยู่หรือพึงชำระก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 354)
พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542
เลขตู้: 64/30718

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020