เลขที่หนังสือ | : กค 0811/7437 |
วันที่ | : 27 กรกฎาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการจดทะเบียนรับโอนโฉนดที่ดินไขว้สับกัน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 91/2(6) |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรภาคได้ส่งหนังสือหารือเกี่ยวกับการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีการ จดทะเบียนรับโอนโฉนดที่ดินไขว้สับกัน ราย นาง อ. โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้ 1. นาง ว. ตกลงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 167 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอสามเพ็ง จังหวัด แขวงเมืองกรุงเทพฯ จากห้าง เอ แต่ด้วยความพลั้งเผลอผิดหลงได้จดทะเบียนซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอสามเพ็ง จังหวัดแขวงเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2484 นาง ว. ได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 167 ฯ มาโดยตลอด และที่ดินได้ตกทอด ทางมรดกยังทายาทได้แก่นาย ส. กับพวก โดยทายาทดังกล่าวได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนถึง ปัจจุบัน 2. นาง ฟ. (มารดานาง อ.) นาง ฮ. และนาง ซ. ได้ตกลงร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอสามเพ็ง จังหวัดแขวงเมืองกรุงเทพฯ จากห้าง เอ แต่ด้วยความ พลั้งเผลอผิดหลงได้จดทะเบียนซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 167 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอสามเพ็ง จังหวัดแขวงเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2486 นาง ฟ.นาง ฮ. และนาง ซ. ได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ฯ มาโดยตลอด และที่ดินได้ตกทอดทางมรดกยังทายาทได้แก่ นาง อ. กับพวก โดยทายาทดังกล่าวได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 3. ต่อมา พ.ศ. 2531 ได้เกิดอัคคีภัยในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ฯ ทำให้สิ่งปลูกสร้าง ถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด นาง อ. กับทายาทคนอื่น ๆ ประสงค์จะปลูกสร้างอาคารบนที่ดินดังกล่าว และจาก การขอรังวัดที่ดินเพื่อตรวจสอบแนวเขตจึงได้ทราบว่า ที่ดินที่พวกตนครอบครองทำประโยชน์อยู่เป็นที่ดิน โฉนดเลขที่ 330 ฯ แต่พวกตนกลับมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 167 ฯ ส่วนนาย ส. กับพวกได้มีชื่อ ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ฯ นาง อ. กับพวกได้แจ้งให้นาย ส. กับพวกจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ ถูกต้อง แต่นาย ส. กับพวกเพิกเฉย นาง อ. กับพวกจึงได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ส.กับพวกรวมสี่ คนเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 330 ฯ และจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่พวกตน ซึ่งต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบโฉนดที่ดิน เลขที่ 330 ฯ โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ให้แก่ตนกับพวกและให้ตนกับพวกส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 167 ฯ โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ให้แก่จำเลยทั้งสี่ และให้ไปจัดการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ทั้งสองแปลงให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทน การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ 4. นาง อ. กับพวกได้ดำเนินการขอจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 330 ฯ เป็นชื่อของนาง อ. กับพวก โดยใช้คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดิน แจ้งว่าต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่นาง อ. เห็นว่า ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจาก เป็นการแก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง มิได้มีการเสียค่าตอบแทนแก่กัน มิใช่ การโอนกรรมสิทธิ์เพราะมีการซื้อขาย และมิได้เป็นการมุ่งค้าหรือหากำไร อีกทั้งหากพิจารณาว่าเป็นการ โอนทรัพย์สินให้แก่กันแล้ว ก็เป็นการโอนทรัพย์สินที่ได้มาทางมรดกซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ประกอบกับนาง อ. กับพวกต่างได้ครอบครองที่ดินเกินกว่า 5 ปีแล้วทั้งสิ้น นาง อ. จึงหารือว่า ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ และเจ้าพนักงานที่ดินสามารถเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะได้หรือไม่ สภ. มีความเห็นว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นการแก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงตามคำพิพากษาของศาล โดยมิได้มีเจตนาแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างกัน ไม่ถือเป็นการ ขาย ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ |
แนววินิจฉัย | : เมื่อข้อเท็จจริงเป็นกรณีเกิดความผิดพลาดหรือผิดหลงเกี่ยวกับการจดทะเบียนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในโฉนดที่ดิน และศาลได้มีคำพิพากษาให้นาง อ. กับพวกจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง นาง อ. กับพวกจึงชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขชื่อในโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง ได้ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มี กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินให้ถูกต้องดังกล่าวไม่ถือเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด อนึ่ง ถ้ามิได้ขอให้แก้ชื่อในโฉนดให้ถูกต้องแต่ได้โอนคืนที่ดินระหว่างกัน กรณีถือเป็นการขาย ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า ขาย หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้เข้าลักษณะเป็นการ ขาย แต่กรณีตามข้อเท็จจริงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ กระทำเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ทั้งยังเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มา โดยทางมรดก จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสีย ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 |
เลขตู้ | : 64/30708 |