เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/7405
วันที่: 26 กรกฎาคม 2544
เรื่อง: ภาษีอากรค้าง กรณีการอายัดเงินค่าจ้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 12
ข้อหารือ: บริษัท ธ. จำกัดถูกสำนักงานสรรพากรจังหวัดแพร่ประเมินภาษีอากร จำนวน
3,044,585 บาท บริษัทฯ ได้มารับจ้างงานกับสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชและถูก
สรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราชอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าว จึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ
การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของ
เจ้าหน้าที่ทางราชการ สำนักงานสรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาว่า
การดำเนินการอายัดเงินค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสรรพากร เป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1 พิจารณาตามประมวลรัษฎากร
กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ถูกจังหวัดแพร่ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,044,585 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่ม) เมื่อบริษัทฯ มิได้นำเงินมา
ชำระภาษีตามการประเมินเรียกเก็บเมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ให้ถือเป็นหนี้ภาษีอากรค้างในจังหวัดอื่น
นอกจากกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีกรมสรรพากร
ในเขตท้องที่จังหวัดสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยมิต้องขอ
ให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างค้างชำระหรือยังไม่ครบกำหนดชำระ
ที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่บริษัทฯ จำนวนเงิน 2,065,392 บาท ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม
กฎหมายดังกล่าวแล้ว
กรณีเงินประกันสัญญาจ้างซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของเงินที่นำมาวางไว้เป็นหลักประกันและเงิน
อื่นใดที่จะได้รับตามสัญญาจ้างอันเป็นเงินที่บริษัทฯ เป็นผู้ได้รับเมื่อสิ้นสุดแห่งสัญญา ดังกล่าว เมื่อ
กรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวยังคงเป็นของบริษัทฯ กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากร จึงชอบที่
จะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น การอายัดเงินค่าจ้างของบริษัทฯ ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายตาม
มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความ
ในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2539
2. พิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
กรณีนี้ใบแจ้งการประเมิน ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้
และเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน
เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อ
ชำระเงินให้ครบถ้วน การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5(1),
มาตรา, 34 มาตรา 40, มาตรา 44 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. 2539 โดยผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองจะเป็นผู้มีอำนาจยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน
ของผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง แต่มิให้ใช้บังคับในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดเรื่องผู้มีอำนาจสั่งยึด
หรืออายัดหรือขายทอดตลาดไว้โดยเฉพาะ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
เนื่องจากใบแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา
30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินโดยการอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ถ้าไม่เสีย
ภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ถือเป็นหนี้ภาษีอากรค้างซึ่งในจังหวัดอื่นนอกจาก
กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในเขตท้องที่จังหวัดมีอำนาจยึดหรืออายัดและ
ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้โดยมิต้องให้ศาลออกหมายยึด
หรือสั่ง กรณีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา
12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2539
การแจ้งการประเมินตามใบแจ้งการประเมิน การอุทธรณ์ การอายัดทรัพย์สินตาม
ประมวลรัษฎากรและระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินฯ กรณีดังกล่าวถือว่ามีหลักเกณฑ์ที่
ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติ
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีนี้จึงถือว่าการดำเนินการอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็น
การปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.
2539 และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติ
ราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ดังนั้น คำสั่งการอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายตามประมวลรัษฎากร และตาม
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
เลขตู้: 64/30706

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020