เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/7275
วันที่: 25 กรกฎาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศโดยผ่านตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ท.ป. 101/2544 ฯ
ข้อหารือ: ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึง
ประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน
พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการเป็นตัวแทนและการให้บริการขนส่ง
ในอัตราร้อยละ 3.0 สมาคมฯ จึงขอหารือปัญหาการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ซึ่งมีข้อเท็จจริงในการ
ดำเนินการดังนี้
1. ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าทางอากาศจะติดต่อตัวแทนขนส่งเพื่อให้ติดต่อบริษัท
สายการบินที่จะขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ส่งออก
2. ในการชำระเงินค่าขนส่งสินค้าให้แก่บริษัทสายการบิน ตัวแทนขนส่งจะชำระเงินให้แก่
บริษัทสายการบินเดือนละ 2 งวด คืองวดวันที่ 1-15 และวันที่ 16-30 ซึ่งจะชำระวันที่ 15 และ 30
ของเดือนถัดไป การชำระเงินให้กับบริษัทสายการบิน ตัวแทนขนส่งได้ทดรองจ่ายแทน ผู้ส่งออกก่อนแล้ว
จึงเรียกเก็บเงินจากผู้ส่งออก เนื่องจากการให้เครดิตแก่ผู้ส่งออกแต่ละรายไม่เท่ากันแต่ต้องชำระเงินให้
แก่บริษัทสายการบินตามเวลาที่กำหนด
สมาคมฯ จึงขอเสนอว่า ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีให้บริการขนส่ง สินค้า
ทางอากาศโดยผ่านตัวแทนขนส่งตามข้อเท็จจริงข้างต้น แนวทางที่สะดวกและถูกต้องในทางปฏิบัติสำหรับ
วิธีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ควรเป็นดังต่อไปนี้
1. ตัวแทนขนส่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 จาก สายการบิน โดย
คำนวณตามมูลค่าค่าขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานที่ตัวแทนขนส่งเรียกเก็บจากผู้ส่งออก
2. ผู้ส่งออกไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าขนส่งระหว่างประเทศจากอากาศยานที่
ตัวแทนขนส่งเรียกเก็บ
3. บริษัทสายการบินมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ร้อยละ 3.0 จากบริษัทตัวแทนขนส่ง
สินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน โดยคำนวณจากส่วนต่างค่าขนส่ง (ค่าบำเหน็จตัวแทน)
ตัวอย่าง
ตัวแทนขนส่งเรียกเก็บค่าขนส่งฯ แทนบริษัทสายการบิน 100 บาท
ตัวแทนขนส่งได้รับส่วนต่างค่าขนส่งฯ (ค่านายหน้า) 5 บาท เมื่อเวลานำส่งบริษัทสายการบิน
100 บาท ตัวแทนขนส่งฯ จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 3.0 ของ 100 บาท ในขณะเดียวกัน
บริษัทสายการบินจ่ายค่าส่วนต่างค่าขนส่ง (ค่าบำเหน็จตัวแทน) 5 บาท ให้ตัวแทนขนส่ง บริษัท
สายการบินจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 3.0 ของ 5 บาท
สมาคมฯ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณายืนยันแนวทางในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ใน
แนวทางดังกล่าวเพื่อจะได้นำไปแจ้งให้หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป
แนววินิจฉัย: 1. การจ่ายค่าบริการขนส่งสินค้า ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2544
ตามข้อ 12/1 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
2. กรณีตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ได้จ่ายเงินทดรองจ่ายแทนบริษัท
ผู้ส่งออก สำหรับค่าขนส่งสินค้าให้แก่บริษัทสายการบินไปก่อน ตัวแทนขนส่งฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 3.0 สำหรับค่าขนส่งดังกล่าว ตามข้อ 12/1 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังกล่าว ณ
สำนักงานสรรพากรอำเภอหรือเขตท้องที่ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่าย
3. กรณีตัวแทนขนส่งฯ ได้เรียกเก็บเงินค่าขนส่งที่มีการทดรองจ่ายแทนบริษัทฯ ผู้ส่งออกไป
ก่อน จากบริษัทฯ ผู้ส่งออก โดยค่าขนส่งที่ตัวแทนขนส่งฯ เรียกเก็บจากบริษัทฯผู้ส่งออกสามารถสอบยันได้
กับยอดที่ตัวแทนขนส่งฯ ได้จ่ายให้แก่บริษัทสายการบินก่อนหักค่าบำเหน็จ ตัวแทน ซึ่งตัวแทนขนส่งฯ ต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม 2 แล้ว บริษัทฯ ผู้ส่งออกไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าขนส่ง
ระหว่างประเทศที่ตัวแทนขนส่งฯ เรียกเก็บ แต่อย่างใด
4. กรณีบริษัทสายการบินจ่ายค่าบำเหน็จตัวแทน ให้แก่ตัวแทนขนส่งฯ บริษัทสายการบินมีหน้าที่
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2544 ตามข้อ 3/1 แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
เลขตู้: 64/30698

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020