เลขที่หนังสือ | : กค 0811/7115 |
วันที่ | : 19 กรกฎาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 47(1)(ซ) |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรภาคหารือกรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ราย นาวาอากาศโท ส. ซึ่งรับราชการเป็นทหารอากาศอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยได้พักอาศัยอยู่ในบ้านพักของทางราชการ ซึ่ง ตามระเบียบของกองทัพอากาศกำหนดให้ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพัก ถ้ามีการย้ายชื่อออกจะเสียสิทธิใน การพักอาศัย ต่อมา นาวาอากาศโท ส. ได้เช่าซื้อบ้านที่จังหวัดปทุมธานี โดยจำนองบ้านหลังที่ซื้อไว้กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีของลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไป ปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ นาวาอากาศโท ส. จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ดังกล่าวไปหักลดหย่อนและยกเว้นภาษี ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และ วิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับ ข้อ 1(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตาม ข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 |
แนววินิจฉัย | : กรณีของลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ หมายความว่า ลูกจ้างนั้นจะต้องเช่าซื้อบ้านและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ซื้ออยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้รับ คำสั่งจากนายจ้างให้ไปปฏิบัติงานในจังหวัดอื่นและจะต้องย้ายชื่อในทะเบียนบ้านไปยังจังหวัดที่ไปทำงาน ด้วยกรณีตามข้อเท็จจริงจึงไม่เข้าลักษณะของลูกจ้าง ซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ นาวาอากาศโท ส. จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปหักลดหย่อนและยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ดังนั้น ความเห็นของสำนักงานสรรพากรภาคถูกต้องแล้ว |
เลขตู้ | : 64/30696 |