เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6658
วันที่: 4 กรกฎาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1), มาตรา 48(5)
ข้อหารือ: บริษัทฯ มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานในกรณีจ่ายเงินเป็นบำเหน็จให้แก่พนักงานในกรณี
ดังต่อไปนี้
(1) พนักงานที่มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 12 ปี และมีอายุครบ 35, 40 และ 45 ปี บริบูรณ์
สามารถขอถอนเงินบำเหน็จก่อนไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือน โดยยื่นคำร้องขอถอนเงินบำเหน็จก่อน
(2) ให้พนักงานที่ครบเกษียณอายุ ซึ่งได้ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงขอทำงานต่อหลังเกษียณอายุ
และได้รับการพิจารณาจ้างงานต่อหลังเกษียณอายุ โดยจะจ้างงานต่อเนื่อง และยังคงทำงานเป็นพนักงาน
ของบริษัทฯ ต่อไป โดยได้รับเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการอื่น ๆ เช่น พนักงานทั่วไป จนครบ
ระยะเวลาการจ้างงานต่อ
สำหรับพนักงานที่บริษัทฯ จ้างงานต่อหลังเกษียณอายุมีสิทธิขอถอนเงินบำเหน็จบางส่วนก่อน
ไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย โดยนับอายุงานสำหรับคำนวณเงินบำเหน็จส่วนที่ขอถอนก่อนนี้
สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ครบเกษียณอายุ และพนักงานจะได้รับเงินบำเหน็จส่วนที่เหลือ โดย
นับอายุงานเริ่มต้นใหม่จากวันที่จ้างงานต่อจนครบเวลาการจ้างงานต่อ พร้อมเงินชดเชยซึ่งนับจาก
อายุงานตั้งแต่ปีแรกเข้าทำงานถึงปีที่ครบอายุการจ้างงานต่อ และการจ่ายเงินบำเหน็จ 2 กรณีดังกล่าว
บริษัทฯ คำนวณภาษีเงินได้ดังนี้ คือ
(ก) เงินบำเหน็จที่ขอถอนก่อนไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือน บริษัทฯ คำนวณโดยถือเป็น
เงินบำเหน็จจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
(ข) เงินบำเหน็จส่วนที่เหลือและเงินชดเชย บริษัทฯ คำนวณโดยถือเป็นเงินได้พึงประเมิน
มารวมคำนวณกับเงินได้ประจำเดือน
จากเอกสารหลักฐานที่บริษัทฯ ส่งมา ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้แน่ชัด สำนักงาน
สรรพากรภาค จึงได้ขอให้บริษัทฯ มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ผู้จัดการฝ่ายธุรการมาให้
ถ้อยคำเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีหลักเกณฑ์การจ้างพนักงาน กรณีเป็นลูกจ้างหญิง จะจ้างงานจนถึงอายุ 45
ปี หลังจากครบอายุการจ้างงาน บริษัทฯ จะประเมินผลงานว่าจะจ้างงานต่อหรือไม่ หากไม่จ้างต่อถือว่า
เกษียณอายุก็จะจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
สำหรับพนักงานที่ได้รับการจ้างงานต่อที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเกินกว่า 20 เท่าของ
เงินเดือน แต่บริษัทฯ จะจ่ายไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือน ส่วนเงินบำเหน็จที่เกิน 20 เท่า บริษัทฯ
จะจ่ายเมื่อครบอายุการจ้างงานต่อ โดยบริษัทฯ จะต่ออายุงานเพียง 1 ครั้ง ๆ ละ 5 ปี ซึ่งต่อมาได้
ตกลงกับสหภาพแรงงานขอต่ออายุงานอีก 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 ปี
ส่วนเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บริษัทฯ จะจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน โดยนับ
อายุงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนสิ้นสุดสัญญาจ้างครั้งสุดท้าย
กรณีเป็นลูกจ้างชาย จะจ้างงานจนถึงอายุ 50 ปี ส่วนหลักเกณฑ์อื่น ๆ เป็น เช่นเดียวกับ
ลูกจ้างหญิง
สำนักงานสรรพากรภาค เห็นว่า
(1) เงินบำเหน็จที่พนักงานที่มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 12 ปี และมีอายุครบ 35, 40 และ 45 ปี
บริบูรณ์ สามารถขอถอนเงินบำเหน็จก่อนไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือน โดยที่ยังคงสภาพเป็นลูกจ้างของ
บริษัทฯ ต่อ จนครบกำหนดเกษียณอายุ เงินบำเหน็จที่ขอถอนก่อน ดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่
นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน แต่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ที่จะ
ต้องนำไปรวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับเงินบำเหน็จส่วนที่เหลือ ตามคำให้การของพนักงานบริษัทฯ แจ้งว่า บริษัทฯ
จะจ่ายให้เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ หากไม่มีการจ้างงานต่อก็ต้องถือเป็นเงินได้ที่จ่ายให้ครั้งเดียว
เพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งหากเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 เงินบำเหน็จส่วนที่เหลือ จึงเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งสามารถ
แยกคำนวณได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนเงินชดเชยที่พนักงานดังกล่าวจะได้รับเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ โดยนับ
ระยะเวลาและมีการจ่ายเงินตามกฎหมายแรงงาน (ตามคำให้การของพนักงานบริษัทฯ) จึงถือเป็น
เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 และเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา
40(1) ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งสามารถแยกคำนวณได้ตามมาตรา 48(5)
แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีเงินบำเหน็จพนักงานที่ครบเกษียณอายุแล้วได้รับการจ้างงานต่อได้รับ ซึ่ง
ตามคำให้การได้ยืนยันว่า เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงานที่ต้องการยืดอายุงานให้แก่
พนักงาน โดยให้มีการประเมินผลงานว่า สมควรจะจ้างงานต่อตามเงื่อนไขของบริษัทฯ หรือไม่ ซึ่ง
ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการจ้างงานต่อ ดังนั้น เมื่อพนักงานมีความประสงค์จะขอเงินบำเหน็จก่อนออกจากงาน
จำนวนไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย โดยยังคงเป็นพนักงานของบริษัทฯ ต่อไป จนครบอายุ
การจ้างงานต่อ เงินได้ดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว และถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ซึ่งจะ
ต้องนำมารวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีที่บริษัทฯ มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน โดยให้พนักงานขอถอนเงินบำเหน็จ
ก่อนที่จะเกษียณอายุ เงินบำเหน็จดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา
40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากพนักงานที่ได้รับเงินนั้นยังไม่ได้ออกจากงานแต่ยังคงปฏิบัติ
หน้าที่ตามปกติต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวเป็น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะ
เหตุออกจากงาน จึงไม่มีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้
2. กรณีที่บริษัทฯ จ่ายเงินบำเหน็จให้พนักงานที่เกษียณอายุ โดยพนักงานดังกล่าวได้รับ
การพิจารณาจ้างงานต่อหลังเกษียณอายุโดยนับอายุงานเริ่มต้นใหม่จากวันที่จ้างงานต่อ และเงินบำเหน็จที่
บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานที่เกษียณอายุดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่พนักงานที่
เกษียณอายุมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าว เงินบำเหน็จดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่
นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และหากผู้มีเงินได้มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า
5 ปี ย่อมมีสิทธิเลือกคำนวณเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้
สำหรับเงินชดเชยที่พนักงานซึ่งได้รับการจ้างงานต่อหลังเกษียณอายุมีสิทธิจะได้รับเมื่อครบอายุ
การจ้างงานต่อ โดยคำนวณจากอายุงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงานถึงปีที่ครบอายุการจ้างงานต่อ ถือเป็น
เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และหากผู้มีเงินได้มีระยะเวลาการทำงานไม่
น้อยกว่า 5 ปี ย่อมมีสิทธิเลือกคำนวณเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดย
การคำนวณระยะเวลาทำงาน และปีที่ทำงาน เพื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ให้เริ่มนับอายุการทำงานตั้งแต่วันที่มีการจ้างงานต่อ ไม่สามารถนับอายุการทำงานต่อหลังจากเกษียณอายุ
ได้
เลขตู้: 64/30665

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020