เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5753
วันที่: 7 มิถุนายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74(1)(ค)
ข้อหารือ: บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถือหุ้นของบริษัทในเครือ และเนื่องจากมี
การปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้นและการลงทุนในกลุ่มบริษัท จึงทำให้ต้องเลิกบริษัท โดยจะโอน กิจการ
สินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมด ให้กับบริษัทอื่น บริษัทฯ จะจดทะเบียนเลิกและดำเนินการชำระบัญชีใน
รอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่ได้มีการโอนกิจการ บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. กรณีที่บริษัทฯ จะโอนกิจการทั้งหมด เลิกบริษัท และชำระบัญชีในรอบระยะเวลาที่
โอนกิจการ ราคาของทรัพย์สินที่บริษัทฯ โอนให้กับบริษัทผู้รับโอนต้องโอนตามราคาที่ได้มา (ราคาทุน)
เนื่องจากการกำหนดให้ตีราคาสินทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันเลิกบริษัท ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ให้ทำในบัญชีของบริษัทผู้โอนเท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดให้ถือเอาราคาดังกล่าวเป็นราคา
สำหรับการโอนสินทรัพย์จากบริษัทฯ ให้กับบริษัทผู้รับโอน ถูกต้องหรือไม่
2. หากความเข้าใจตามข้อ 1 ไม่ถูกต้อง และตีความว่า บริษัทฯ ต้องโอนสินทรัพย์ให้กับ
บริษัทผู้รับโอนตามราคาตลาด หากมีกำไร (ราคาตลาด ณ วันโอนสูงกว่าราคาทุนตามบัญชี)หรือขาดทุน
(ราคาตลาด ณ วันโอนต่ำกว่าราคาทุนตามบัญชี) เกิดขึ้นจากการโอนกิจการ บริษัทฯ ไม่ต้องนำกำไร
หรือขาดทุนดังกล่าวมารวมในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของบริษัทฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ ได้
โอนกิจการและเลิกบริษัทถูกต้องหรือไม่
3. กรณีถ้าเป็นไปตามข้อ 2. (ต้องโอนสินทรัพย์ด้วยราคาตลาด ณ วันโอนกิจการ) หากใน
อนาคตบริษัทผู้รับโอนขายหุ้นที่ได้รับโอนจากบริษัทฯ บริษัทผู้รับโอนจะต้องใช้ราคาทุน ที่บริษัทฯ ได้หุ้นมา
เป็นต้นทุนในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทผู้รับโอนเมื่อขายหุ้น
ดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่
4. กรณีการโอนกิจการทั้งหมดเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 74 (1)(ค) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทผู้รับโอนต้องเลิกกิจการ และชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ
บริษัทฯ เข้าใจว่า หากได้มีการชำระบัญชีแล้วแต่ไม่สามารถจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีได้ในรอบ
ระยะเวลาเดียวกันกับการชำระบัญชี กรณีนี้ก็ยังถือว่าได้มีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่
โอนกิจการตามบทบัญญัติของมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้อง หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. การคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกรณีการโอนกิจการ
ระหว่างบริษัทด้วยกัน โดยบริษัทผู้โอนกิจการได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชี
ที่โอนกิจการนั้น ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาด
ในวันที่จดทะเบียนเลิก และกำหนดให้นำความตามมาตรา 74(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 74(1)(ข) กำหนดไม่ให้ถือว่าราคาทรัพย์สินที่ตีตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียน
เลิกเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของบริษัทเดิมที่ได้โอนกิจการไป ส่วนบริษัทที่
ได้รับโอนกิจการนั้น ให้ถือราคาทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทเดิมในวันที่
รับโอนกิจการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจนกว่าจะมีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ดังนั้น
1.1 กรณีของบริษัทฯ ผู้โอน ทรัพย์สินที่โอนจะต้องตีราคาตามราคาตลาดใน วันที่
จดทะเบียนเลิก หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนสุทธิที่ เกิดขึ้นนั้น
บริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ไม่ได้
1.2 กรณีของบริษัทผู้รับโอน บริษัทผู้รับโอนจะต้องตีราคาทรัพย์สินที่รับโอนมาตาม
ราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทเดิม (ราคาทุน) ในวันที่รับโอนกิจการ ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. การโอนกิจการที่จะเข้าหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องเป็นการโอนกิจการที่ผู้โอน
ต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการ ซึ่งการเลิกกิจการนั้น ตาม
มาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของ
รอบระยะเวลาบัญชี และจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภายใน 150 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับ
จดทะเบียนเลิก ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มี
การโอนกิจการ แม้ว่าจะยังไม่เสร็จการชำระบัญชีก็ตาม ถือว่า บริษัทฯ ผู้โอนเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้อง
คำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74(1)(ค)แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30578

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020