เลขที่หนังสือ | : กค 0811/5268 |
วันที่ | : 28 พฤษภาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดใช้ค่าเสียหาย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/2 |
ข้อหารือ | : 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าประเภทยางรถยนต์และอุปกรณ์ภายในรถยนต์เพื่อขาย บริษัทฯ สั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าจากผู้ขายหลายรายด้วยกัน ซึ่งในการสั่งซื้อวัตถุดิบจะมี ข้อตกลงว่า หากวัตถุดิบไม่เป็นไปตามคุณภาพที่กำหนดและทำให้บริษัทฯ เสียหาย บริษัทฯ จะเรียกร้อง ค่าเสียหายจากผู้ขายวัตถุดิบ 2. การเรียกร้องค่าเสียหายจำแนกเป็น 3 กรณี (1) กรณีบริษัทฯ ตรวจพบว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพก่อนการผลิต บริษัทฯ จะส่งคืนวัตถุดิบให้แก่ ผู้ขายวัตถุดิบ โดยผู้ขายวัตถุดิบจะออกใบลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ (2) กรณีบริษัทฯ ตรวจพบว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพในขั้นตอนการผลิตบริษัทฯ จะให้ผู้ขายวัตถุดิบ ชดใช้ค่าเสียหายโดยคำนวณจากค่าวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการผลิตขึ้นอยู่กับว่าบริษัทฯ ตรวจพบ ในช่วงการผลิตใด โดยคำนวณชั่วโมงที่ใช้ในการผลิตจริง คูณด้วยอัตราค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงตามสัญญา (3) กรณีบริษัทฯ ตรวจพบว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพเมื่อได้จัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้ว (ก). กรณีอยู่ในช่วงการประกันรถยนต์ (WARRANTY CLAIM) เมื่อบริษัทฯ ได้รับแจ้งจาก ลูกค้าว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพ และบริษัทฯตรวจสอบพบว่าเกิดจากวัตถุดิบที่ซื้อจากผู้ขายวัตถุดิบ บริษัทฯ จะคิดค่าเสียหายจากผู้ขายในจำนวนเงินเดียวกับที่ลูกค้าคิดกับบริษัทฯ ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ จะคิด ค่าเสียหายจากบริษัทฯโดยรวมค่าแรงที่ตัวแทนจำหน่ายของลูกค้าเปลี่ยนยางรถยนต์หรืออุปกรณ์ภายใน รถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ (ข). กรณีลูกค้าส่งคืนสินค้าก่อนการประกอบรถยนต์ ลูกค้าของบริษัทฯ อาจตรวจพบว่า สินค้า ของบริษัทฯไม่ได้คุณภาพก่อนการนำไปประกอบรถยนต์ก็จะส่งคืนสินค้าให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ จะ คิดค่าเสียหายจากผู้ขายวัตถุดิบในราคาขายวัตถุดิบ 3. บริษัทฯ หารือว่า ในกรณีบริษัทฯ เรียกเก็บเงิน ชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ขายวัตถุดิบ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ตรวจพบว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดก่อนการผลิตสินค้า บริษัทฯ จะส่ง คืนวัตถุดิบดังกล่าวให้แก่ผู้ขายวัตถุดิบ โดยผู้ขายวัตถุดิบจัดทำใบลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้มาหักออกจากภาษีซื้อของบริษัทฯในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้นั้น ตามมาตรา 82/10 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ ตรวจพบว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพในขั้นตอนการผลิตสินค้า ซึ่งบริษัทฯไม่สามารถ ส่งคืนวัตถุดิบให้แก่ผู้ขายวัตถุดิบ บริษัทฯ จึงเรียกเก็บเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ขายวัตถุดิบ โดยคำนวณจาก ค่า วัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการผลิต จำนวนเงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าเสียหายจากการขายวัตถุดิบ มิใช่ มูลค่าที่บริษัทฯได้รับจากการขายวัตถุดิบคืนให้แก่ผู้ขายวัตถุดิบตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีบริษัทฯ ตรวจพบว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพเมื่อได้ส่งสินค้าสำเร็จรูปให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จึงเรียกเก็บเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ขายวัตถุดิบในจำนวนเดียวกันกับที่ลูกค้าของบริษัทฯได้ เรียกเก็บจากบริษัทฯ หรือในราคาขายวัตถุดิบ จำนวนเงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าเสียหายจาก การขายวัตถุดิบ มิใช่มูลค่าที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายวัตถุดิบคืนให้แก่ผู้ขายวัตถุดิบตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 64/30519 |