เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3079
วันที่: 29 มีนาคม 2544
เรื่อง: การยกเว้นภาษี กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท A จำกัด และบริษัท B จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เป็นหนี้เงินกู้
ยืมจากธนาคารต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันบริษัท A จำกัด ได้ให้
บริษัท C จำกัด กู้ยืมเงินเป็นจำนวน 840 ล้านบาท บริษัทฯ ได้เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายใต้การ
กำกับของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ค.ป.น.) ตามหลักเกณฑ์ที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
(1) เนื่องจากมีเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารและเจ้าหนี้อื่นเป็นจำนวนมากที่จะได้รับ
ส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของบริษัทฯ เพื่อชำระหนี้ จึงได้มีการจัดตั้งบริษัท D จำกัด โดยให้บรรดาเจ้าหนี้
เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
(2) เพื่อให้บริษัท D จำกัด มีสิทธิเข้าร่วมกับธนาคารในการเจรจาปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ จึงได้ซื้อหนี้ของเจ้าหนี้รายหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐหนึ่งวันก่อนการ
อนุมัติบันทึกหลักการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายใต้การกำกับของ ค.ป.น. และต่อมาในภายหลังจะซื้อ
สิทธิเรียกร้องของธนาคารและเจ้าหนี้ผู้เข้ารับช่วงสิทธิ (เจ้าหนี้อื่น) ที่มีอยู่กับบริษัท A จำกัด และบริษัท
B จำกัด อีกประมาณ 2,500 ล้านบาท และอีกบางส่วนที่เป็นส่วนน้อยจะมีการโอนภายหลังจากนั้นอีก
(3) หลังจากบริษัท D จำกัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับ
ธนาคารและเจ้าหนี้ผู้เข้ารับช่วงสิทธิ (เจ้าหนี้อื่น) แล้ว บริษัท A จำกัด และบริษัท B จำกัด จะ
โอนทรัพย์สินให้แก่บริษัท D จำกัด เพื่อเป็นการหักกลบลบหนี้ โดยทรัพย์สินที่โอนจะมีมูลค่าใกล้เคียง
สิทธิเรียกร้องในหนี้ของบริษัท D จำกัด ซึ่งจะมีการโอนทรัพย์สินภายหลังหรือพร้อมกับที่บริษัท D จำกัด
รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนวน 2,500 ล้านบาท
(4) ในหรือก่อนวันลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ บริษัท A จำกัด จะ
โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่มีอยู่กับบริษัท C จำกัด จำนวน 1,200 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารและบริษัท D
จำกัด เพื่อให้ธนาคารและบริษัท D จำกัด เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท C จำกัด โดยจะมีการโอนหนี้บางส่วน
ให้ในหรือก่อนวันลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และหนี้ส่วนใหญ่จะมีการโอนให้ในภายหลัง
(5) บริษัท C จำกัด จะโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัท D จำกัด เพื่อเป็นการ
หักกลบลบหนี้โดยทรัพย์สินที่โอนจะมีมูลค่าใกล้เคียงสิทธิเรียกร้องในหนี้ของบริษัท D จำกัด
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
(1) กรณีบริษัท A จำกัด และบริษัท B จำกัด โอนทรัพย์สินให้แก่บริษัท D จำกัด
และ
(2) กรณีบริษัท C จำกัด โอนทรัพย์สินให้แก่ บริษัท D จำกัด
เพื่อชำระหนี้ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ (ค.ป.น.) ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จะ
ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีการโอนทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากร
ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 จะต้องเป็นกรณีการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้
สถาบันการเงิน ให้แก่สถาบันการเงิน หรือให้แก่เจ้าหนี้อื่นที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งได้ดำเนินการเจรจา
ร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับ
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ทั้งนี้ จะต้องเป็นการโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้าง
หนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศกำหนด
เลขตู้: 64/30337

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020