เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3074
วันที่: มีนาคม 2544
เรื่อง: ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะของรายรับจากธุรกิจบัตรเครดิต และการให้เช่าซื้อสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/4(2), มาตรา 65
ข้อหารือ: บริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจให้เช่าซื้อสินค้าในประเทศไทย ได้
หารือเกี่ยวกับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการประกอบกิจการธุรกิจบัตรเครดิตและ
ธุรกิจให้เช่าซื้อสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1. ธุรกิจบัตรเครดิต
1.1 บริษัทฯ จะออกบัตรเครดิตให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้านำไปชำระค่า
สินค้าหรือบริการแทนเงินสด เมื่อลูกค้าชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิตที่บริษัทฯ ออกให้แล้ว
ผู้ประกอบการจะเรียกเก็บเงินจากบริษัทฯ ตามหลักฐานการรับชำระเงินที่มีลายมือชื่อของลูกค้าบริษัทฯ
ปรากฏอยู่ตามเวลาที่กำหนดไว้กับบริษัทฯ และเมื่อบริษัทฯ ชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว บริษัทฯ จะ
เรียกให้ลูกค้าชำระเงินในจำนวนเงินเบื้องต้นขั้นต่ำที่ลูกค้าได้ตกลงไว้กับบริษัทฯ ซึ่งอยู่ระหว่างร้อยละ 3
ถึงร้อยละ 10 ของวงเงินเครดิตของลูกค้าแต่ละราย สำหรับจำนวนเงินส่วนที่เหลือลูกค้าจะชำระตาม
งวดที่ได้ตกลงไว้กับบริษัทฯ ในการเรียกเก็บเงินจากลูกค้านั้น หากลูกค้าชำระเงินภายในกำหนดในแต่ละ
งวด ลูกค้าจะชำระเพียงจำนวนเงินเบื้องต้นขั้นต่ำ ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการจัดการหมุนเวียน
แต่หากลูกค้าผิดนัดชำระเงิน ลูกค้าจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่าช้าเพิ่มเติมตามที่ตกลงไว้
ในสัญญาการใช้บัตรเครดิตที่ลูกค้าทำไว้กับบริษัทฯ อีกด้วย
อนึ่ง นอกจากการใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการแล้ว
ลูกค้าอาจเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าจากตู้บริการเบิกถอนเงินสดของธนาคารต่าง ๆ หรือโทรศัพท์แจ้งบริษัทฯ
ให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของลูกค้าตามที่แจ้งไว้กับบริษัทฯ โดยลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมและ
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม
1.2 ในการให้บริการบัตรเครดิตดังกล่าว บริษัทฯ เรียกเก็บ
ค่าธรรมเนียมจากลูกค้าดังต่อไปนี้
(ก) ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Membership fee) ซึ่ง
เรียกเก็บจากลูกค้าเพียงครั้งเดียว เมื่อสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต โดยเรียกเก็บเป็นจำนวนเงินที่
แน่นอน
(ข) ค่าธรรมเนียมรายปี (Annual fee) ซึ่งเป็น
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้าเป็นรายปีในจำนวนเงินที่แน่นอน
1.3 นอกจากค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปีแล้ว
ลูกค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการบัตรเครดิตของบริษัทฯ ดังต่อไปนี้
(ก) ค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินค้างชำระ (Interest rate)
ซึ่งเรียกเก็บเป็นอัตราร้อยละต่อเดือนของจำนวนเงินที่ค้างชำระ
(ข) ค่าธรรมเนียมการจัดการหมุนเวียน (Revolving
management fee) ซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้า โดยเรียกเก็บเป็นอัตราร้อยละต่อเดือนของจำนวนเงินที่
ค้างชำระดังเช่นค่าดอกเบี้ยตามข้อ 1.3 (ก)
(ค) ค่าปรับกรณีการชำระเงินล่าช้า (Late payment
penalties) ซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มเติมในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระเงินเบื้องต้นขั้นต่ำหรือเงินค่างวด
ล่าช้า โดยเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 8 ของเงินเบื้องต้นขั้นต่ำหรือเงินค่างวดที่ผิดนัดชำระล่าช้า
1.4 ในกรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตของบริษัทฯ เบิกถอนเงินสดล่วงหน้า
จากตู้บริการเบิกถอนเงินของธนาคารต่าง ๆ หรือโทรศัพท์แจ้งบริษัทฯ ให้นำเงินเข้าบัญชีธนาคารของ
ลูกค้า ลูกค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(ก) ค่าดอกเบี้ยของเงินสดล่วงหน้า (Interest on
cash advance) ซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้า โดยคำนวณจากอัตราร้อยละต่อปีของจำนวนเงินที่เบิกถอน
ล่วงหน้าซึ่งจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยในข้อ 1.3 (ก)
(ข) ค่าธรรมเนียมการจัดการหมุนเวียน (Revolving
management fee) ซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้า โดยเรียกเก็บเป็นอัตราร้อยละต่อเดือนของจำนวนเงินที่
ค้างชำระดังเช่นดอกเบี้ยตาม 1.3 (ก)
(ค) ในกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระคืนเงินสดล่วงหน้า ลูกค้าจะ
ต้องรับผิดต่อบริษัทฯ จากการชำระหนี้ล่าช้าในทำนองเดียวกับการชำระเงินค่างวดล่าช้าตามที่กล่าวในข้อ
1.3 (ก) ข้างต้น
2. การให้เช่าซื้อสินค้า
2.1 ในการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อนั้น บริษัทฯ จะทำสัญญากับ
ห้างสรรพสินค้า (“ห้าง”) หรือร้านค้า โดยหากลูกค้าสนใจเช่าซื้อสินค้าของห้างหรือร้านค้า ห้างหรือ
ร้านค้าจะดำเนินการให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทฯ พร้อมกับชำระเงินงวดแรกให้กับ
บริษัทฯ โดยผ่านทางห้างหรือร้านค้า เมื่อลูกค้าลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินค่าเช่าซื้องวด
แรกให้กับบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จะชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ห้างหรือร้านค้าตามจำนวนที่เรียกเก็บหรือตาม
จำนวนที่มีส่วนลด แล้วแต่ความตกลงระหว่างบริษัทฯ กับห้างหรือร้านค้าเป็นคราว ๆ ไป การคำนวณเงิน
ค่าเช่าซื้อที่เรียกเก็บจากลูกค้า และเงินค่าสินค้าที่บริษัทฯ ต้องชำระเงินให้แก่ห้างหรือร้านค้าจะเป็นไป
ตามแนวทางดังต่อไปนี้
2.2 ในกรณีทั่วไป ราคาที่บริษัทฯ ให้เช่าซื้อจะเท่ากับราคาเงินสดของ
สินค้าที่ห้างหรือร้านค้าขายให้แก่ผู้ซื้อทั่วไป บวกด้วยดอกเบี้ยที่คำนวณจากราคาสินค้าดังกล่าวตามอัตรา
และระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการผ่อนชำระ ในการบันทึกรายการทางบัญชี บริษัทฯ จะบันทึกราคาเช่าซื้อ
สินค้าที่ลูกค้ายังไม่ได้ชำระ ในบัญชีลูกหนี้และเมื่อครบกำหนดชำระเงินค่างวดแต่ละงวด บริษัทฯ จะรับรู้
ส่วนดอกเบี้ยของเงินค่างวดที่ถึงกำหนดชำระนั้นเป็นรายได้ของบริษัทฯ ประเภทดอกเบี้ย
2.3 ในกรณีที่ห้างหรือร้านค้าประสงค์จะร่วมกับบริษัทฯ ส่งเสริม
การขายสินค้าของตนด้วยการให้เช่าซื้อ โดยไม่คิดดอกเบี้ยจากลูกค้า ราคาให้เช่าซื้อที่บริษัทฯ เรียกเก็บ
จากลูกค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อจะเท่ากับราคาเงินสดของสินค้าที่ห้างหรือร้านค้าขายให้แก่ผู้ซื้อทั่วไป โดย
ไม่มีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนภาระดอกเบี้ยนั้น ห้างหรือร้านค้าจะเป็นผู้รับภาระแทนลูกค้า
ตามข้อตกลงการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายระหว่างบริษัทฯ กับห้างหรือร้านค้า กล่าวคือ เมื่อห้างหรือ
ร้านค้าส่งหนังสือเรียกเก็บเงินค่าสินค้ามายังบริษัทฯ ในจำนวนเต็ม บริษัทฯ จะชำระเงินค่าสินค้าให้แก่
ห้างหรือร้านค้าในจำนวนเต็มดังกล่าว และจะเรียกเก็บค่าดอกเบี้ยที่ห้างหรือร้านค้าต้องรับภาระ ซึ่งใน
การบันทึกรายการทางบัญชีในกรณีนี้บริษัทฯ จะบันทึกเป็นดอกเบี้ยรับล่วงหน้า และรับรู้เป็นรายได้ประเภท
ดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ตามงวดชำระค่าเช่าซื้อของลูกค้าแต่ละราย
2.4 ในกรณีผู้ผลิตร่วมส่งเสริมการขายสินค้ากับบริษัทฯ ด้วยการคิด
ดอกเบี้ยในอัตราศูนย์กับลูกค้า โดยผู้ผลิตเป็นผู้รับภาระค่าดอกเบี้ยแทนลูกค้า ในกรณีดังกล่าวห้างหรือ
ร้านค้าจะเรียกเก็บเงินจากบริษัทฯ ในจำนวนเต็ม และบริษัทฯ จะชำระด้วยจำนวนเต็มเช่นกัน เมื่อ
บริษัทฯ ชำระค่าสินค้าให้แก่ห้างหรือร้านค้าจำนวนเต็มแล้ว บริษัทฯ จะออกหนังสือเรียกเก็บเงินค่า
ดอกเบี้ยที่บริษัทฯ พึงเรียกเก็บจากลูกค้าจากผู้ผลิต และบันทึกและรับรู้เงินจำนวนในลักษณะเดียวกับการ
บันทึกและรับรู้ในข้อ 2.3 ข้างต้น ส่วนราคาให้เช่าซื้อที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าจะเท่ากับราคา
เงินสดของสินค้าที่ห้างหรือร้านค้าขายให้แก่ผู้ซื้อทั่วไปเช่นเดียวกับกรณีตามข้อ 2.2
จากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตามที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทฯ เข้าใจ
ว่า
(1) ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีตามข้อ 1.2 (ก)
และ (ข) เป็นรายรับที่บริษัทฯ ต้องนำไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 246)ฯ
(2) ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ตามข้อ 1.3 และ 1.4 เป็น
รายรับที่บริษัทฯ ต้องนำไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากเป็นรายรับที่ได้จากการประกอบกิจการโดย
ปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ของบริษัทฯ ตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) ค่าดอกเบี้ยที่ห้างหรือร้านค้าหรือผู้ผลิตสินค้าต้องรับภาระตามข้อ
2.3 และ 2.4 ซึ่งบริษัทฯ เรียกเก็บในรูปของเงินค่าตอบแทนการส่งเสริมการขาย เป็นรายรับที่บริษัทฯ
ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ของบริษัทฯ ตามส่วนเฉลี่ยงวดชำระค่าเช่าซื้อ แต่ไม่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากถือเป็นเงินที่ได้รับหลังจากการขายสินค้าแล้ว
(4) ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่พึงเรียกเก็บจากลูกค้า
จากการให้เช่าซื้อสินค้าแก่ลูกค้าในกรณีที่ห้างหรือร้านค้าหรือผู้ผลิตสินค้าร่วมส่งเสริมการขายตามข้อ 2.3
และ 2.4 ได้แก่ ค่าเช่าซื้อสินค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าโดยไม่ต้องนำค่าดอกเบี้ยที่ห้างหรือร้านค้า
หรือผู้ผลิตสินค้าต้องรับภาระไปรวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
แนววินิจฉัย: (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิต
(ก) เนื่องจากค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี เป็น
รายรับที่ได้รับจากธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 246) พ.ศ.2534
ได้บัญญัติให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 91/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจึงเป็นรายรับที่ต้องนำไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ข) ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในข้อ 1.3 และข้อ 1.4
เป็นค่าตอบแทนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการให้กู้ยืมเงินอันเป็นรายรับจาก
การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น รายรับดังกล่าวจึงเป็นรายรับที่ต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจให้เช่าซื้อ
แม้ว่าค่าดอกเบี้ยที่ห้างหรือร้านค้า หรือผู้ผลิตสินค้าชำระให้แก่บริษัทฯ ตาม 2.3 และ 2.4
นั้น จะเป็นการจ่ายตามข้อตกลงการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายระหว่างห้างหรือร้านค้าหรือผู้ผลิตกับ
บริษัทฯ โดยมิได้มีการกำหนดในสัญญาให้เช่าซื้อระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าก็ตาม แต่โดยที่การจ่ายดอกเบี้ย
ตามข้อตกลงดังกล่าว เกี่ยวข้องโดยตรงกับสัญญาให้เช่าซื้อสินค้าระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้า ดังนั้น
ดอกเบี้ยดังกล่าว จึงถือเป็นดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้รับเนื่องจากการให้เช่าซื้อ และบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้อง
นำดอกเบี้ยดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำดอกเบี้ยที่
ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ตามงวด
ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละงวดตามมาตรา 78(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30333


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020