เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2709
วันที่: 20 มีนาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทไทยจ่ายค่าสิทธิออกไปให้บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70, มาตรา 83/6
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ทำสัญญาขอความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assistance Service
Agreement) กับบริษัท A โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1. บริษัท A เป็นบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามาจดทะเบียนเป็น
ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2535 เพื่อประกอบกิจการ
ให้บริการรับจ้างติดตั้งและประกอบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และให้บริการก่อสร้างฐานขุดเจาะ
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่การทำสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับบริษัท A นั้น เป็นการทำสัญญากับ
สำนักงานใหญ่ของบริษัท A ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานของบริษัท A ในประเทศไทย
2. ตามสัญญา Technical Assistance Service Agreement ระหว่างบริษัทฯ กับ
บริษัท A นั้น บริษัท A ตกลงที่จะให้วิทยาการ (Know How) ในการผลิต ซ่อมบำรุง และควบคุมคุณภาพ
ของโรงงานผลิตเหล็กรีดเย็น (cold rolling mills) ซึ่งเป็นวิทยาการที่บริษัท A มีอยู่แล้วใน
ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท A จะส่งพนักงานจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดวิทยาการดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ
ในประเทศไทย และไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใด
บริษัทฯ ได้หารือว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา Technical Assistance
Service Agreement ให้กับบริษัท A บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เนื่องจากค่าตอบแทนการถ่ายทอดวิทยาการในการผลิตเหล็กรีดเย็นตามสัญญา
ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนการใช้ข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม
พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นค่าแห่งสิทธิตามข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่าง
ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ดังนั้น หากค่าสิทธิดังกล่าว มิได้มีส่วน
เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยของบริษัท A เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้
กับบริษัท A บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 12 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากบริษัท A มีฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวให้กับบริษัท A บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร หากแต่เป็นหน้าที่ของบริษัท A ที่ต้องเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และออกใบกำกับภาษีให้กับบริษัทฯ ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30309

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020