เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1556
วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของครูต่างชาติที่เข้ามาสอนในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41, ข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ข้อหารือ: สมาคมโรงเรียนนานาชาติได้หารือเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของครูชาว
อเมริกัน ซึ่งเข้ามาทำการสอนในประเทศไทยเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่ง
อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ดังนี้
1. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับครูซึ่งเข้ามาทำการสอนไม่เกิน 2 ปี นั้น
หมายความว่าครูดังกล่าว จะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยก่อนครบกำหนดเวลา 2 ปีใช่หรือไม่ และ
หากเมื่อครบกำหนด 2 ปีแล้ว ครูดังกล่าวทำงานต่อไป จะเสียสิทธิในการได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร
2. ครูต่างชาติที่เคยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว และได้
เดินทางกลับประเทศของตนไปแล้ว หากครูดังกล่าวเดินทางกลับเข้ามาทำการสอนเป็นระยะเวลาไม่เกิน
2 ปีอีก จะมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีดังกล่าวอีกหรือไม่
3. ระยะเวลา 2 ปีนั้น จะเริ่มนับตั้งแต่วันทำสัญญา หรือวันที่ครูต่างชาติเดินทางเข้ามาใน
ประเทศไทย
4. หากครูต่างชาติซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว ได้เสียภาษีเงินได้
ไปโดยสำคัญผิด จะมีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ที่ได้เสียไปแล้วหรือไม่ อย่างไร
5. หากครูต่างชาติได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โรงเรียนซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ไม่มี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายใช่หรือไม่
6. ในกรณีที่ครูต่างชาติเข้ามาทำการสอนเกิน 2 ปี และไม่ได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้ที่ครูจะต้องเสียภาษี จะรวมถึงประโยชน์เพิ่มอื่น ๆ เช่น สิทธิในการที่
ให้บุตรเรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียนหรือไม่
7. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับครูดังกล่าว จะใช้กับครูซึ่งมีถิ่นที่อยู่
ในประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทยด้วยหรือไม่
แนววินิจฉัย: เนื่องจากข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อ
การเว้นการเก็บภาษีซ้อน กำหนดว่า “An individual who visits a Contracting State
for a period not exceeding two years for the purposes of teaching or
engaging in research at a university, college or other recognized
educational institution in that State, and who was immediately before that
visit a resident of the other Contracting State, shall be exempted from tax
by the first-mentioned Contracting State on any remuneration for such
teaching or research for a period not exceeding two years from the date he
first visits that State for such purpose.” ดังนั้น กรณีข้อหารือของสมาคมฯ จึงพิจารณา
ได้ ดังนี้
1. เนื่องจากข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว กำหนดให้การยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ครูชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาเยือนประเทศไทยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
(who visits a Contracting State for a period not exceeding two years) เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อให้ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว ครูชาวอเมริกันจะต้องมี
ระยะเวลาในการเข้ามาเยือนไม่เกิน 2 ปี กล่าวคือ จะต้องเดินทางออกจากประเทศไทย ก่อนหรือเมื่อ
ครบกำหนด 2 ปี เท่านั้น หากเมื่อครบกำหนด 2 ปีแล้ว ครูชาวอเมริกัน ยังมิได้เดินทางออกจาก
ประเทศไทย ย่อมมีผลให้ระยะเวลาในการเข้ามาเยือนเกิน 2 ปี และทำให้ครูชาวอเมริกันนั้นไม่ได้รับ
สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่แรกที่เข้ามาเยือนประเทศไทย
2. เนื่องจากตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว กำหนดให้การยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนในการสอนสำหรับระยะเวลาซึ่งไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ครู
เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก (any remuneration for such teaching or
research for a period not exceeding two years from the date he first visits
that State) ดังนั้น กรณีของครูชาวอเมริกันที่เคยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการเข้า
มาเยือนประเทศไทยครั้งแรก และได้เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว หากต่อมาครูคนดังกล่าว
เดินทางกลับมาสอนในประเทศไทยอีก แม้จะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ย่อมไม่ได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการเข้ามาสอนในครั้งที่ 2 แต่อย่างใด
3. ระยะเวลา 2 ปีนั้น เริ่มนับแต่วันที่ครูชาวอเมริกันเข้ามาเยือนในประเทศไทย (from
the date he first visits that State)
4. ในกรณีที่ครูชาวอเมริกันได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่ง
อนุสัญญาดังกล่าว แต่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปโดยสำคัญผิด ครูชาวอเมริกันมีสิทธิขอคืน
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้เสียไปโดยสำคัญผิดได้ภายในอายุความ 3 ปี นับแต่วัน สุดท้ายแห่ง
กำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
5. ในกรณีที่ครูชาวอเมริกันได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่ง
อนุสัญญาดังกล่าว โรงเรียนซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตาม
มาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
6. ในกรณีที่ครูชาวอเมริกันไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง
แห่งอนุสัญญาดังกล่าว เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี รวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่ง
อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ด้วย ตามบทนิยามคำว่า “
เงินได้พึงประเมิน” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
7. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับครูชาวอเมริกันดังกล่าวข้างต้น
สามารถใช้กับครูซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทยที่
มีข้อบทในเรื่องครูที่บัญญัติเหมือนกันด้วย เช่น ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ
เลขตู้: 64/30197

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020