เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1158
วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาทางด้านจัดการ (management consultancy) และค่าจ้างออกแบบ (design services) ออกไปให้บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากร ราย บริษัท ร. จำกัด สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1. บริษัท ร. จำกัด เป็นบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และประกอบกิจการรับเหมาติดตั้ง
ซ่อมแซม ประกอบโครงเหล็กชุบสังกะสีสำหรับประกอบทำเสาโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคมทุกชนิด
อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง - ต่ำ สายอากาศวิทยุโทรคมนาคม หม้อแปลงไฟฟ้า ตู้แผงไฟฟ้า
2. เนื่องจากบริษัทฯ ได้ตกลงรับออกแบบและผลิต (Design and manufact ure) เสา
โทรคมนาคมให้กับ บริษัท Cambodia Shinawatra ในประเทศกัมพูชา บริษัทฯ จึงได้ทำสัญญาจ้างช่วง
ให้บริษัท พ. จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย และมิได้ประกอบกิจการใน
ประเทศไทยเพื่อให้บริการออกแบบเสาดังกล่าว รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านจัดการ (management
consultancy) ให้กับบริษัทฯ
3. สำนักงานสรรพากรภาคได้หารือว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างออกแบบและค่าที่ปรึกษาด้าน
การจัดการออกไปให้บริษัท พ. จำกัด บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากรหรือไม่ และหากบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ได้หักไว้โดยสำคัญผิด ใครจะเป็นผู้มีสิทธิขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้ในกรณีดังกล่าว
แนววินิจฉัย: หากการออกแบบและการให้คำปรึกษาทางด้านการจัดการตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นการ
รับจ้างโดยทั่วไป ซึ่งไม่มีการถ่ายทอดข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ในทางอุตสาหกรรม พาณิชย์กรรม
หรือวิทยาศาสตร์ที่ผู้รับจ้างมีสิทธิหวงกันแต่อย่างใด เงินได้จากการรับจ้างดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไร
จากธุรกิจ ดังนั้น หากบริษัท พ. จำกัด มิได้ให้บริการโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรใน
ประเทศไทย บริษัท พ. จำกัด จะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าจ้างที่ได้
รับ ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลียเพื่อการเว้น
การเก็บภาษีซ้อน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505
อนึ่ง หากบริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มี
หน้าที่ต้องหัก บริษัท พ. จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์เป็นผู้มีสิทธิขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้ในกรณีดังกล่าว
โดยบริษัท พ. จำกัด อาจมอบอำนาจให้บริษัทฯ ขอคืนแทนก็ได้
เลขตู้: 64/30141


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020