เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6464
วันที่: 20 ตุลาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1) (ซ) และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคาร
อิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 เป็นรูปแบบของธนาคารเฉพาะกิจ โดยดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อไม่
ขัดกับหลักศาสนาแก่บุคคลและนิติบุคคลทั่วไป คิดผลตอบแทนในรูปกำไร เนื่องจากผลตอบแทนของธนาคาร
เรียกไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารฯ จึงขอหารือปัญหาภาษีอากร ดังนี้
1. บริการสินเชื่อที่ธนาคารฯ ให้แก่ลูกค้าตามหลัก BBA เพื่อการซื้อและก่อสร้างที่อยู่อาศัย
โดยการให้สินเชื่อดังกล่าวมีการทำสัญญาซึ่งเรียกว่าสัญญาอำนวยสินเชื่อ และคิดผลตอบแทนจากการให้
สินเชื่อเรียกว่าผลกำไร (ไม่เรียกว่าดอกเบี้ย) รวมทั้งมีการบันทึกบัญชีรับ/จ่ายสินเชื่อเป็นเงินสด และ
ออกใบเสร็จรับเงินกับหนังสือรับรองระบุเป็นเงินต้น ....... บาท ผลตอบแทน ....... บาท
ธนาคารฯ หารือว่า การคิดผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อดังกล่าวเกิดความไม่ชัดเจนว่า ผู้ขอสินเชื่อที่
เป็นบุคคลธรรมดานั้น สามารถนำผลตอบแทน (ผลกำไร) ที่ธนาคารคิดไปใช้ขอลดหย่อนในการคำนวณ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
2. การให้สินเชื่อ การเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ การเช่าสังหาริมทรัพย์ การขายเชื่อสินค้าและ
วัตถุดิบ ผู้ขอสินเชื่อเป็นนิติบุคคล มีการชำระเงินต้นพร้อมกำไรซึ่งเรียกว่าผลตอบแทนซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็น
ดอกเบี้ย นิติบุคคลดังกล่าวสามารถนำผลตอบแทนที่ทางธนาคารฯ คิดไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีธนาคารฯ ให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าเพื่อการซื้อและก่อสร้างที่อยู่อาศัย และธนาคารฯ
คิดผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อเรียกว่าผลกำไร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลูกค้าของ
ธนาคารฯ มีสิทธินำผลกำไรดังกล่าวมาหักลดหย่อนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นไป
ตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่
126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 226 (พ.ศ. 2543)ฯ ลงวันที่ 1
มกราคม พ.ศ. 2543
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องคำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขใน
มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หากเงินผลตอบแทนที่บริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายให้ธนาคารฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิได้
เลขตู้: 67/33175

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020