เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./8318
วันที่: 7 กันยายน 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อต้องห้าม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5 (6)
ข้อหารือ: ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตั้งแต่ปี 2540 โดยมีบริษัท อุต จำกัด
(มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และในระหว่างการดำเนินกิจการนั้น บริษัทแม่และบริษัทในเครือประสบ
ปัญหากับภาวะเศรษฐกิจจากการลดค่าเงินบาท ทำให้มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทฯ ใน
ฐานะบริษัทลูกได้ทำการยืมใบหุ้นจากบริษัท A จำกัด (มหาชน), บริษัท B จำกัด และนาย ก เพื่อ
ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนำเงินดังกล่าวมาให้บริษัทแม่กู้ยืม
ต่อมาบริษัทอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) รวมทั้งบริษัทฯ และบริษัทในเครือ ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
กิจการในปี 2543 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ มีภาษีซื้อที่เกิดจาก
ค่าธรรมเนียมในการยืมใบหุ้น ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการ ค่าเช่าอาคาร ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย ค่า
แปลเอกสาร และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารที่เช่า โดยบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.30) เครดิตภาษีซื้อตลอดมาจนถึงเดือนภาษีพฤษภาคม 2546 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มขอคืนเงินภาษีเป็นเงินสดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงาน
สรรพากรพื้นที่ดังกล่าวได้ตรวจสอบหลักฐานการขอคืนภาษีและได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า บริษัทฯ มิได้
ประกอบกิจการตามประเภทของกิจการที่บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ แต่มีรายได้จากการ
ให้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นกิจการคนละประเภทกันและอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ภาษีซื้อต่างๆ
จึงมิได้เกิดจากการประกอบกิจการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ จึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่
สามารถขอคืนได้และต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของภาษีซื้อที่ยื่นไว้เกินนั้น แต่บริษัทฯ เห็นว่าการที่บริษัทฯ
ได้ขอคืนภาษีซื้อเป็นเงินสดนั้น เพราะได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ
บริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงทำการขอคืนภาษีเพื่อนำมาใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนในกิจการ
และเมื่อมีการเรียกเก็บภาษีขายจากค่าธรรมเนียมในการยืมใบหุ้นแล้วจะได้นำส่งเป็นภาษีขายให้
กรมสรรพากรต่อไป ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อเป็นเงินสดในปีภาษี 2546 ได้เพราะเป็น
ภาษีซื้อที่เกิดจากธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือและเป็นธุรกรรมจากการฟื้นฟูกิจการนั้น
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าว ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าธรรมเนียมในการยืมใบหุ้น ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการ
ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย ค่าแปลเอกสารและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับอาคารที่เช่า เป็นภาษีซื้อที่เกิดจาก
รายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำมาหักใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(3) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไป
หักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/(56) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม
พ.ศ. 2535 ดังนั้น การที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ขอคืนภาษีซื้อโดยวิธี
เครดิตภาษีมาโดยตลอดและขอคืนภาษีเป็นเงินสดในเดือนภาษีพฤษภาคม 2546 จึงทำให้จำนวนภาษีซื้อใน
เดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปบริษัทต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีซื้อที่แสดงไว้เกิน ตาม
มาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33118


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020