เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9422
วันที่: 18 ตุลาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีราษฎรได้รับความเดือดร้อนในการเรียกเก็บภาษีจากชาวสวนยาง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 56
ข้อหารือ: กรณีชาวสวนยางได้ร้องเรียนและขอให้ช่วยชี้แจงเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จากการทำสวนยาง ดังต่อไปนี้
1. การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีมาตรฐานอย่างไร ในการเก็บคิดจากอะไร
2. ชาวสวนต้องเสียภาษีเช่นนี้ทุกคนหรือไม่ ชาวสวนทุเรียนผลไม้ต่าง ๆ ต้องเสียหรือไม่
3. ถ้าราคายางตกลง ยังต้องเสียภาษีหรือไม่
4. ภาษีที่ดินที่เสียอยู่ทุกปี เป็นภาษีประเภทเดียวกันหรือไม่
5. ถ้าไม่สบายตัดยางไม่ได้ ไม่มีเงินเสียภาษี จะถูกจับหรือไม่
6. ถ้าฝนตกมาก ๆ เดือนไหน ตัดยางไม่ได้จะทำอย่างไร
7. มีลูกสองคนยังเรียนอยู่ มีพ่อแม่ที่แก่แล้วต้องเลี้ยง ซื้อรถเครื่องต้องผ่อนอีกหลายเดือน
ยังไม่มีเงินไปเสียภาษี จะถูกจับหรือไม่
8. ทำไมเมื่อก่อนไม่เรียกเก็บภาษี ตอนราคายางตก
9. ยางหลายปีแล้ว จะถึงหน้าหยุดยางแล้ว ตั้งใจจะโค่นเสีย แล้วขายไม้ยางไปทำสวนผลไม้
หรือทำไร่ ปลูกพริก ปลูกข้าวโพด จะต้องเสียภาษีอีกหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม ข้อ 1. ข้อ 3. ข้อ 5. ข้อ 6. ข้อ 7. และข้อ 8. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บุคคลทุกคนมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน
ที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษี โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ถ้าบุคคลนั้น
(1) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 30,000 บาท
(2) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท
ดังนั้น กรณีชาวสวนยางหากในปีภาษีใดมีเงินได้พึงประเมินตามเกณฑ์ดังกล่าว ก็มีหน้าที่
ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ตามที่กำหนดในมาตรา 56 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการโดยแสดงรายการเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่เดือน
มกราคมถึงเดือนมิถุนายนเพื่อชำระภาษี (ครึ่งปี) ภายในเดือนกันยายนทุกปีภาษี ตามมาตรา 56 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งภาษีที่ชำระ (ครึ่งปี) ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระในเดือน
มีนาคม ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว โดยในการคำนวณภาษีให้นำเงินได้พึงประเมินหัก
ด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คงเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา และสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ต้องคำนวณภาษีจากการนำ
เงินได้พึงประเมินคูณด้วยร้อยละ 0.5 ได้ภาษีจำนวนเท่าใด ให้นำไปเปรียบเทียบกับภาษีที่คำนวณได้ตาม
วิธีแรก โดยให้เสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินภาษีที่มากกว่า
กรณีบุคคลใดมีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่มิได้เสียภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้อง
รับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 27 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และหากเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบความผิดโดยการออกหมายเรียกตรวจสอบก็ต้อง
รับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 หรือมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
2. กรณีตามข้อ 2 และข้อ 9 เงินได้ของชาวสวนที่ได้รับจากการขายยาง หรือการขายต้น
ยาง รวมทั้งเงินได้จากการทำสวน ทำไร่ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามเกณฑ์ในข้อ 1
3. กรณีตามข้อ 4 ภาษีที่ดินเป็นภาษีที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นผู้จัดเก็บเพื่อใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นนั้น ๆ สำหรับภาษีเงินได้ เป็นการ
จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร ที่กรมสรรพากรจัดเก็บเพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน การจัดเก็บภาษี
ทั้งสองประเภทจึงแตกต่างกัน
เลขตู้: 67/33172

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020