เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8706
วันที่: 20 กันยายน 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักและนำส่งภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ช), มาตรา 70
ข้อหารือ: บริษัท ป. ลูกค้าของบริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายไทย และประกอบธุรกิจใน
ประเทศไทย มีความประสงค์จะลงทุนถือหุ้นในบริษัทจำกัดบริษัทหนึ่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
(บริษัท ก.) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายไทย และประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยบริษัท ป.
จะซื้อหุ้นของบริษัท ก. จากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ
(บริษัท A) ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และมิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย
กรณีดังกล่าวบริษัทฯ เข้าใจว่า กรณีที่บริษัท ป. จ่ายเงินค่าหุ้นของบริษัท ก. ให้แก่บริษัท A
โดยการขายหุ้นนั้นมีผลประโยชน์ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุนตามมาตรา 40(4)(ช) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัท ป. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 14 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ
รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการ
เลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังความละเอียดแจ้งอยู่แล้ว
แนววินิจฉัย: บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ มิได้
ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร
ที่จ่ายจากประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นผลได้จากทุน ตามข้อ 14 แห่งอนุสัญญาระหว่าง
ราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บ
ภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ซึ่งตามวรรค 4
กำหนดให้ถิ่นที่อยู่ของผู้มีเงินได้เป็นผู้มีสิทธิเก็บภาษีจากเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น บริษัท A ไม่ต้อง
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย และบริษัท ป. จึงไม่มีหน้าที่หักและนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม
มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 67/33139


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020