เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.03)/824 |
วันที่ | : 27 กันยายน 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าแบบลิสซิ่งและการให้เช่าซื้อ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65, มาตรา 79 |
ข้อหารือ | : ขอหารือเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าแบบลิสซิ่งและการให้ เช่าซื้อ โดยสรุปข้อเท็จจริงดังนี้ 1. กรณีการให้เช่ารถยนต์ สัญญาเช่ามีสาระสำคัญคือ (1) สัญญาเช่าไม่รวมค่าบริการ โดยกำหนดให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้จดทะเบียนรถยนต์และต่อ ทะเบียนรถยนต์ ส่วนผู้เช่าต้องจ่ายค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ประกอบกับ ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย (2) สัญญาเช่าที่ผู้ให้เช่ารับผิดชอบจ่ายค่าจดทะเบียนรถยนต์ โดยกำหนดให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้ จดทะเบียนรถยนต์ และต่อทะเบียนรถยนต์ ส่วนผู้เช่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ประกอบกับ ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย (3) สัญญาเช่าที่ผู้ให้เช่ารับผิดชอบจ่ายค่าจดทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ โดยกำหนดให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้จดทะเบียนรถยนต์ และต่อทะเบียนรถยนต์ ประกอบกับเป็นผู้รับประโยชน์ตาม สัญญาประกันภัย (4) สัญญาเช่าที่ผู้ให้เช่ารับผิดชอบจ่ายค่าจดทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ รวมทั้งค่าซ่อมบำรุง โดยกำหนดให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้จดทะเบียนรถยนต์ และต่อทะเบียนรถยนต์ประกอบกับ เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย (5) สัญญาเช่าที่ผู้ให้เช่ารับผิดชอบจ่ายค่าจดทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ รวมทั้งค่าซ่อมบำรุงและบริการจัดหารถทดแทนชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้จดทะเบียนรถยนต์ และต่อทะเบียนรถยนต์ ประกอบกับเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย สำหรับค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ตามสัญญาเช่าดังกล่าว มีวิธี ปฏิบัติดังนี้ 1.1 ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ผู้ให้เช่าจ่ายต่อทะเบียนรถยนต์ไปก่อน แล้วเรียกเก็บจาก ผู้เช่าตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมเรียกเก็บค่าบริการครั้งละ 200 บาท และผู้ให้เช่านำค่าบริการมาถือ เป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.2 ค่าเบี้ยประกันภัย (ก) ผู้เช่าเป็นผู้ติดต่อบริษัทผู้รับประกันภัยและจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ แล้วส่ง สำเนากรมธรรม์ ให้ผู้ให้เช่าเก็บรักษา (ข) ผู้ให้เช่าเป็นผู้ติดต่อบริษัทผู้รับประกันภัย และจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์พร้อม ได้รับใบกำกับภาษีค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในชื่อผู้ให้เช่า ต่อมาผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัย รถยนต์จากผู้เช่า กรณีนี้ผู้ให้เช่ามิได้นำค่าเบี้ยประกันภัยมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ให้เช่าได้รับส่วนลดจากบริษัทผู้รับประกันภัยและนำมาถือเป็น รายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่มิได้นำมาถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. กรณีการให้เช่าซื้อรถยนต์ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์กำหนดให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้รับผิดชอบค่า จดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ มีวิธีปฏิบัติดังนี้ 2.1 ค่าจดทะเบียนรถยนต์ และค่าต่อทะเบียนรถยนต์ (ก) ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ดำเนินการต่อทะเบียนรถยนต์เอง (ข) ผู้ให้เช่าซื้อให้บริการต่อทะเบียนรถยนต์ และจ่ายค่าต่อทะเบียนรถยนต์ไปก่อน ต่อมาผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บค่าต่อทะเบียนรถยนต์และค่าบริการครั้งละ 200 บาท จากผู้เช่าซื้อ และ ผู้ให้เช่าซื้อนำค่าบริการดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.2 ค่าเบี้ยประกันภัย (ก) ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ติดต่อบริษัทผู้รับประกันภัยและจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ โดยตรง แล้วส่งสำเนากรมธรรม์ ให้ผู้ให้เช่าซื้อเก็บรักษา (ข) ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้ติดต่อบริษัทผู้รับประกันภัย และจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไป ก่อนพร้อมได้รับใบกำกับภาษีค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในชื่อผู้เช่าซื้อ ต่อมาผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บค่า เบี้ยประกันภัยจากผู้เช่าซื้อ และผู้ให้เช่าซื้อมิได้นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่านายหน้าจากบริษัทผู้รับประกันภัย และได้นำ ค่านายหน้ามาถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ประเด็นที่ 1. กรณีผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บค่าจดทะเบียนรถยนต์ และค่าต่อ ทะเบียนรถยนต์จากผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ ประเด็นที่ 2. กรณีผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์จากผู้เช่า หรือ ผู้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ ประเด็นที่ 3. กรณีส่วนลดที่ผู้ให้เช่า ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยต้องถือเป็นมูลค่าของ ฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. สัญญาให้เช่ารถยนต์ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อ ทะเบียนรถยนต์ หรือค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์จากผู้เช่า เข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์ที่ได้เนื่องจาก การให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าที่เป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้จากการให้เช่าดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ต้องนำมูลค่า ทั้งหมดที่ได้รับจากการให้เช่ารถยนต์ ได้แก่ ค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ หรือค่าประกัน ภัยไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร 2. สัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์ที่มีข้อกำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อ ทะเบียนรถยนต์ หรือค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้จากการให้เช่าซื้อดังกล่าว ไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ประกอบ กิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการให้เช่าซื้อรถยนต์ได้แก่ ค่าจดทะเบียนรถยนต์ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ หรือค่าประกันภัยไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร 3. ส่วนลดที่ผู้ให้เช่าได้รับจากการประกันภัยรถยนต์จากบริษัทผู้รับประกันภัย ไม่เข้าลักษณะ เป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่ง ประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าจึงไม่ต้องนำส่วนลดดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 67/33152 |