เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9255
วันที่: 13 ตุลาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 65 ตรี (3), มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการประกันชีวิต มีโครงการที่จะออกประกันชีวิตแบบใหม่โดยใช่ชื่อว่า
BUSINESS INSURANCE” โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. กรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นแบบรายสามัญหรือรายบุคคล ชนิดสะสมทรัพย์ซึ่งมีระยะเวลา
การชำระเบี้ยประกันและระยะเวลาการให้ความคุ้มครองของกรมธรรม์มีอายุเกิน 10 ปี ครบกำหนดอายุ
กรมธรรม์เมื่อผู้เอาประกันมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบเกษียณตามที่บริษัท
ผู้เอาประกันกำหนดไว้ในระเบียบพนักงาน โดยถือเป็นสวัสดิการของพนักงาน
2. กรมธรรม์ชนิดนี้จะเสนอขายให้นายจ้างโดยนายจ้างเป็นผู้ถือกรมธรรม์ จ่ายเบี้ยประกัน
และเป็นผู้รับประโยชน์ทุกอย่างตามกรมธรรม์
3. เมื่อนายจ้างได้รับประโยชน์ทุกอย่างจากการทำประกันชีวิตดังกล่าวแล้วก็จะยก
ผลประโยชน์ให้พนักงานในกรณีที่พนักงานเกษียณอายุ หรือมอบให้ทายาทของพนักงานในกรณีที่พนักงาน
เสียชีวิต ซึ่งกรณีดังกล่าวจะระบุไว้อย่างชัดเจนในระเบียบพนักงาน
4. หากพนักงานลาออกก่อนกำหนดหรือก่อนเกษียณอายุ นายจ้างสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้
และจะได้รับเงินสดจากมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ พร้อมเงินปันผลหรือดอกเบี้ย นายจ้างไม่จำเป็นต้องยก
ประโยชน์ดังกล่าวให้พนักงาน หากอายุงานของผู้ที่ลาออกก่อนกำหนดยังไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
ในระเบียบพนักงาน บริษัทฯ หารือว่า
4.1 ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายให้พนักงาน นายจ้างนำมาถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
4.2 พนักงานต้องนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายให้มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
4.3 ผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับตามกรมธรรม์และได้ส่งมอบให้พนักงาน จะถือเป็น
ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ นอกจากนี้พนักงานที่ได้รับประโยชน์จะต้องนำ
ผลประโยชน์ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายแทนพนักงาน
ทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นายจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่าย
แทนพนักงานมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตาม
มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายแทน
พนักงานถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. ผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับตามกรมธรรม์นายจ้างจะต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้ เมื่อ
นายจ้างได้ส่งมอบผลประโยชน์ให้พนักงานตามระเบียบสวัสดิการถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง นายจ้าง
มีสิทธินำผลประโยชน์ที่ส่งมอบให้พนักงานมาถือเป็นรายจ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ
(13) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา
40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เลขตู้: 67/33162

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020