เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/พ/833
วันที่: 29 กันยายน 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีและใบรับของค่าบริการที่ผู้รับโอนกิจการชำระแทนผู้โอนกิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78/1, มาตรา 86 และมาตรา 105
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด (มหาชน) (ผู้รับโอนกิจการ) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้อง
เซรามิค ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 99.99 ในบริษัท ข จำกัด (ผู้โอนกิจการ) ประกอบธุรกิจ ผลิตและ
จำหน่ายกระเบื้องเซรามิค ได้โอนกิจการทั้งหมด (ทรัพย์สินและหนี้สิน) ให้แก่บริษัทฯ และได้จดทะเบียน
เลิกประกอบกิจการแล้ว บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. เมื่อรับโอนกิจการแล้ว บริษัทฯ (ผู้รับโอนกิจการ) เป็นผู้ชำระเงินให้เจ้าหนี้แทนบริษัท
ผู้โอนกิจการ
1.1 เจ้าหนี้ค่าสินค้าจะต้องออก ใบรับ” ให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ชำระเงินแทนบริษัทผู้โอน
กิจการใช่หรือไม่
1.2 เจ้าหนี้ค่าบริการจะต้องออก ใบรับและใบกำกับภาษี” ให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้
ชำระเงินแทนบริษัทผู้โอนกิจการ ใช่หรือไม่
2. ใบกำกับภาษีค่าบริการที่บริษัทฯ ได้ชำระเงินแทนบริษัทผู้โอนกิจการ ใช้เป็นภาษีซื้อของ
บริษัทฯ ได้หรือไม่ ผู้ให้บริการจะต้องระบุข้อความอื่นเพิ่มเติมในใบกำกับภาษีที่ออกหรือไม่ อย่างไร
3. เมื่อบริษัทฯ (ผู้รับโอนกิจการ) ได้รับชำระหนี้ค่าบริการจากลูกหนี้ของบริษัทผู้โอนกิจการ
บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ (ผู้รับโอนกิจการ) ได้รับโอนกิจการ (ทรัพย์สินและหนี้สิน) ทั้งหมดมาจาก
บริษัท ข จำกัด ซึ่งการรับโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าว ในส่วนของการโอนเจ้าหนี้มาให้บริษัทฯ เป็น
ผู้ชำระหนี้สำหรับกิจการที่รับโอนมานั้นทำให้บริษัทฯ ตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ซึ่งการ
เปลี่ยนตัวลูกหนี้สามารถกระทำได้โดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามมาตรา 350 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากเป็นการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทผู้โอนกิจการอัน
เนื่องมาจากการรับโอนกิจการที่บริษัทฯ ต้องรับโอนกิจการของผู้โอนกิจการมาดำเนินกิจการต่อไป และมี
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยให้บริษัทฯ เป็นลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ของผู้โอนกิจการได้
รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องออกใบรับให้แก่บริษัทฯ ตามมาตรา 105 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และหากเป็นการรับชำระหนี้ค่าบริการ จะต้องออกใบกำกับภาษีและใบรับให้แก่บริษัทฯ
ตามมาตรา 86 และมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่
ได้รับไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ หากมิใช่
ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ (ผู้รับโอนกิจการ) ได้รับโอนกิจการทั้งหมด (ทรัพย์สินและหนี้สิน) มาจาก
บริษัท ข จำกัด ซึ่งการรับโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าว ในส่วนของการโอนลูกหนี้ของบริษัทผู้โอนกิจการมา
ให้บริษัทฯ เป็นผู้รับโอนลูกหนี้ของบริษัทผู้โอนกิจการ โดยให้ลูกหนี้ของบริษัทผู้โอนกิจการชำระหนี้ค่าสินค้า
หรือค่าบริการให้แก่บริษัทผู้รับโอนกิจการ ซึ่งการโอนลูกหนี้ของบริษัทผู้โอนกิจการมาเป็นลูกหนี้ของบริษัทฯ
โดยบริษัทฯ รับโอนความเป็นเจ้าหนี้มาเป็นของบริษัทฯ จึงเป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ซึ่งสามารถกระทำ
ได้ด้วยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ซึ่งต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องมาใช้
บังคับ ตามมาตรา 349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้
ค่าบริการเนื่องจากผู้โอนกิจการได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ โดยเป็นการรับชำระหนี้
เนื่องจากการรับโอนกิจการที่บริษัทฯ รับโอนกิจการของผู้โอนมาดำเนินการต่อไป และมีการแปลงหนี้ใหม่
ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ให้บริษัทฯ เป็นเจ้าหนี้ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จใน
นามบริษัทฯ ให้แก่ลูกหนี้ดังกล่าวได้ ตามมาตรา 78/1 มาตรา 86 และมาตรา 105 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33154


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020