เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./9375
วันที่: 15 ตุลาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจากการลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79/2(1) วรรคสอง
ข้อหารือ: บริษัท จำกัด ได้รับหนังสือ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการ
ยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 16)
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้การเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรในอัตราตามราคาสูง
กว่าร้อยละ 5 ให้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 5 หรือในอัตราตามสภาพ ซึ่งเมื่อเทียบเป็นร้อยละของ
ราคาแล้วสูงกว่าร้อยละ 5 ให้ลดอัตราอากรลงเหลือเทียบเท่าร้อยละ 5 ซึ่งผลดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับ
การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร ทำให้บริษัทฯ มีความสงสัยว่าประกาศฉบับ
ดังกล่าวซึ่งให้ลดอัตราอากรจากอัตราปกติร้อยละ 15 ลดลงเหลือร้อยละ 5 นั้น จะขัดกับมาตรา
79/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวกำหนดให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้น
หรือลดหย่อนมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จึงหารือว่าในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อ
นำส่งต่อกรมศุลกากรควรใช้อัตราใดระหว่างอัตราเดิมกับอัตราใหม่
แนววินิจฉัย: การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าซึ่งตามมาตรา 79/2(1) วรรคสอง
แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดว่าการนำเข้าสินค้าที่ผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าตาม
กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่นให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดหย่อน
ดังกล่าวมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีด้วยนั้น คำว่า "กฎหมายอื่น"” ตามมาตรา 79/2(1) วรรคสอง
แห่งประมวลรัษฎากร หมายความถึง กฎหมายอื่นๆ ที่มิใช่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
ดังนั้น ในการนำเข้าสินค้าจึงไม่ต้องนำอากรขาเข้าที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนตามพระราชกำหนดพิกัด
อัตราศุลกากรดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
เลขตู้: 67/33169


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020