เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8320
วันที่: 7 กันยายน 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งเงินภาษีแทนผู้จ่ายเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50 ทวิ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ได้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากจากตัวแทนจำหน่ายสินค้า
หลายราย บริษัทฯ ได้ตกลงกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพื่อขอรับส่วนลดในการจัดรายการส่งเสริมการขาย
ทุกเดือน ซึ่งคำนวณจากยอดขายที่ขายได้ในแต่ละเดือนตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ ได้ตกลงกับตัวแทนจำหน่าย
สินค้า โดยบริษัทฯ ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สรุปยอดขายและจำนวนเงินส่วนลดที่จะเรียกเก็บจากตัวแทน
จำหน่ายสินค้าแต่ละราย แล้วส่งยอดส่วนลดดังกล่าวไปหักออกจากราคาสินค้าที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายให้กับ
ตัวแทนจำหน่ายสินค้าพร้อมกับจ่ายเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้กับตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพื่อนำส่ง
กรมสรรพากร โดยตัวแทนจำหน่ายสินค้าจะนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาให้บริษัทฯ ใน
ภายหลังพร้อมกับมารับใบเสร็จรับเงินค่าส่วนลดดังกล่าวจากบริษัทฯ แต่เนื่องจากบริษัทฯ ติดต่อกับตัวแทน
จำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องใช้เวลาในการติดตามและรวบรวม
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนค่อนข้างมากและรวบรวมได้ไม่ครบถ้วน ทำให้บริษัทฯ
ขาดหลักฐานที่จะนำมาใช้เครดิตภาษีให้ถูกต้อง บริษัทฯ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาให้บริษัทฯ เป็นผู้
ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย แทนตัวแทนจำหน่ายสินค้า
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินส่วนลดราคาสินค้าจากการซื้อสินค้าโดยนำไปหักออกจากราคาสินค้า
ที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายให้กับตัวแทนจำหน่ายสินค้า ถือว่าตัวแทนจำหน่ายสินค้าจ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการ
ส่งเสริมการขายให้แก่บริษัทฯ ดังนั้น ตัวแทนจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จึงมี
หน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และตัวแทนจำหน่ายสินค้ามีหน้าที่ต้องออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับบริษัทฯ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ
ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ
ที่จ่ายตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
2. เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายสินค้า มีเป็นจำนวนมากทำให้บริษัทฯ ต้องใช้เวลาในการติดตาม
และรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนค่อนข้างมาก ดังนั้น กรณีบริษัทฯ มีความ
ประสงค์เป็นตัวแทนของตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนตัวแทนจำหน่ายสินค้า ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัว
แทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน และจะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ในนามของผู้จ่ายเงิน หากบริษัทฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทน
ตัวแทนจำหน่ายสินค้าจำนวนหลายราย บริษัทฯ จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นราย
ฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของตัวแทนจำหน่ายสินค้าเป็น
รายฉบับแต่ละรายตัวแทนจำหน่ายสินค้าด้วย อย่างไรก็ดี หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ มีตัวแทน
จำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการ
แทนเป็นลายลักษณ์อักษร และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของตัวแทนจำหน่ายสินค้าเป็น
รายฉบับทุกครั้ง และไม่อยู่ในวิสัยที่จะยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามตัวแทนจำหน่ายสินค้าเป็น
รายฉบับ จึงให้บริษัทฯ และตัวแทนจำหน่ายสินค้าดำเนินการดังนี้
(1) กรณีบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายเดิมของบริษัทฯ โดยมี
สาระสำคัญว่าบริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของส่วนลดราคาสินค้าแทน ออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทน โดยกำหนด
ระยะเวลาให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าตอบรับ เมื่อตัวแทนจำหน่ายสินค้าตอบรับแล้ว ถือว่าหนังสือแจ้งเป็น
ข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนแล้วได้ แต่หากเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายใหม่จะต้องมีข้อกำหนด
การแต่งตั้งตัวแทนอย่างชัดเจน
(2) กรณีบริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินค่าส่วนลดราคาสินค้าจากการซื้อ
สินค้าแทนตัวแทนจำหน่ายสินค้าแล้ว ผ่อนผันให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าไม่ต้องออกหนังสือ รับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินค่าส่วนลดราคาสินค้าให้กับบริษัทฯ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่บริษัทฯ ต้องจัดทำรายละเอียด
รายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และบริษัทฯ ยังคงมี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว
รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า“รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน... พ.ศ...
ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ
ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”
(ค) ประเภทเงินได้
(ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นผู้จ่าย
เงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้
(จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
(3) เพื่อเป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนตัวแทน
จำหน่ายสินค้าแล้ว ให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของเงินค่าส่วนลด
ราคาสินค้าโดยมีข้อความว่า บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เป็นจำนวน ... บาท
แทนตัวแทนจำหน่ายสินค้าแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของ
เดือนถัดไป ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงิน
หรือใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(4) ให้บริษัทฯ ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุในช่อง
ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบ
รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่าย
เงิน จำนวนเงินที่จ่ายและจำนวนภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ
ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหัก
ภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่
หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่ายมีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
(5) ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของ
กรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33120


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020