เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7718
วันที่: 17 สิงหาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายเนื่องจากการทุจริตของกรรมการผู้บริหาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ขอหารือว่า
1. หนี้ที่บริษัท ก. ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ
เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัทฯ และถูกกระทำละเมิดโดย นาย ป. ซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริษัทฯ และ
การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ และผลเสียหายดังกล่าวไม่อาจได้รับกลับคืน
เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มครองใด ๆ ดังนั้น บริษัทฯ สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
2. หากความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้อง บริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายใน
รอบระยะเวลาบัญชีใด
3. หากที่ดินของบริษัทฯ ถูกนำออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร บริษัทฯ
จะนำราคาขายทอดตลาดมาถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ ใช่หรือไม่
4. หากบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ จากคำขอรับชำระหนี้บริษัทฯ ได้ยื่นไว้ในคดีที่ นาย ป. ถูก
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว บริษัทฯ จะต้องนำมาถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัท ก. ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดี ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นโดยคดีถึงที่สุด
แล้วไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่บริษัทฯ ต้องรับผิดเนื่องจากกรรมการผู้จัดการของ
บริษัทฯ ได้นำที่ดินรวม 3 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปจดทะเบียนจำนองเพื่อ
ค้ำประกันหนี้ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ศาลได้พิพากษาว่า การกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจที่ได้
ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทฯ ที่ได้กระทำแทนบริษัทฯ ในการค้ำประกันโดยการ
จดทะเบียนจำนองทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ อันมีผลผูกพันบริษัทฯ จึงพิพากษาให้จำเลย
ทุกคนร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองในคดีขายทอดตลาดชำระหนี้
หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหมดขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
บริษัทฯ ได้เป็นโจทก์ฟ้องกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ในคดีของศาลแพ่งให้ไถ่ถอนที่ดินรวม
3 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากไม่ไถ่ถอน ให้บริษัทฯ ไถ่ถอนจำนองเอง
1. บริษัทฯ ต้องรับผิดในผลเสียหายในฐานะผู้ค้ำประกัน อันถือได้ว่าเป็นผลเสียหายอัน
เนื่องจากการประกอบกิจการ ตามคำพิพากษาของศาล ดังนั้น หากผลเสียหายดังกล่าวมิอาจได้กลับคืน
เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ บริษัทฯ นำมาถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณ กำไรสุทธิเพื่อ
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากผลเสียหายเกิดขึ้นในปีใด ต้องถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่ตาม
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้บริษัทฯ ไม่สามารถลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายเกิดขึ้นได้ และคดีได้
ถึงที่สุดแล้วไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา จึงให้ลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับหนังสือจากกรมสรรพากร
เป็นกรณีเฉพาะรายได้ หากต่อมาภายหลังบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนใน
รอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระแล้วนั้นมาลงเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
2. กรณีธนาคารเจ้าหนี้ ได้บังคับชำระหนี้โดยการขายทอดตลาดทรัพย์ของบริษัทฯ ในการ
ค้ำประกันหนี้ เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระหนี้แล้ว บริษัทฯ มีสิทธิไล่เบี้ยกับลูกหนี้ตามมาตรา 693 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่บริษัทฯ ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยผู้จำนองอื่น ตามมาตรา 725 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีนี้จึงไม่อาจนำมาตรา 693 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่ง
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องค้ำประกันมาบังคับใช้ โดยบริษัทฯ ต้องนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาด
มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อบริษัทฯ
ได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำเงินจำนวนที่ได้รับชำระนั้นมาลงเป็นรายได้ใน
รอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33097

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020