เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7453
วันที่: 6 สิงหาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าเช่าเวลาออกอากาศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
ข้อหารือ: บริษัท อ. ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ โดยบริษัทฯ มีรายได้หลักจากธุรกรรม 2 ประเภท
คือ รายได้จากการรับจ้างโฆษณาสินค้าให้แก่ลูกค้าในช่วงเวลาออกอากาศที่บริษัทฯ เป็นผู้จัดทำรายการ
เอง และรายได้จากการให้เช่าเวลาออกอากาศในช่วงเวลาที่บริษัทฯ มีเวลาเหลือ โดยผู้เช่าเวลาจะ
ผลิตหรือจัดหารายการโทรทัศน์และติดต่อโฆษณาเอง ซึ่งผู้เช่าเวลาจะมีรายได้จากการรับจ้างโฆษณา
สินค้า
สำหรับรายได้จากการให้เช่าเวลาออกอากาศ บริษัทฯ ได้กำหนดเงื่อนไขกับผู้เช่าเวลา โดย
มีสาระสำคัญดังนี้
(1) อายุสัญญาการเช่าเวลามี 2 ประเภท ประเภทแรกเช่าระยะยาว ไม่เกิน 3 เดือน
และประเภทที่สองเป็นการเช่าเวลาในการถ่ายทอดสด โดยเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงเป็นดุลยพินิจของบริษัทฯ
แต่ฝ่ายเดียวที่จะให้ผู้เช่าเวลาได้เช่าเวลาต่อไปอีกหรือไม่ ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจยกเลิกสัญญาก่อนสัญญาครบ
กำหนด โดยแจ้งให้ผู้เช่าเวลาทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
(2) รายการที่ผู้เช่าเวลานำมาออกอากาศมีระยะเวลาตั้งแต่ 2 นาที จนถึง 90 นาที
สำหรับจำนวนในการออกอากาศอาจจะออกทุกวันหรือทุกสัปดาห์ โดยบริษัทฯ จะพิจารณาจัดเวลาให้ตาม
ความเหมาะสม
(3) ผู้เช่าเวลาจะต้องส่งเทปรายการให้บริษัทฯ ทำการตรวจสอบก่อนออกอากาศทุกครั้ง
หากบริษัทฯ เห็นว่าเนื้อหาในรายการไม่เหมาะสม ขัดระเบียบ จารีตประเพณีของสังคมและความมั่นคง
หรือโฆษณาไม่ถูกต้องตามกฎหมายต่าง ๆ บริษัทฯ มีสิทธิขอให้ผู้เช่าเวลาเปลี่ยนแปลงหรืองดออกอากาศ
รายการหรือโฆษณานั้น ๆ ได้
(4) ผู้เช่าเวลาเป็นผู้จัดทำหรือนำรายการมาออกอากาศเอง โดยมีรายได้จากการโฆษณา
สินค้า/ประชาสัมพันธ์
(5) บริษัทฯ ยังคงมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่ให้เช่า ในกรณีที่บริษัทฯ มี
ความจำเป็น เช่น การถ่ายทอดสดรายการของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยบริษัทฯ
จะแจ้งให้ผู้เช่าเวลาทราบล่วงหน้าและจะจัดสรรช่วงเวลาใหม่ทดแทนให้ต่อไป
ในการจ่ายเงินค่าเช่าเวลาออกอากาศให้แก่บริษัทฯ ผู้เช่าเวลาจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายใน
อัตราร้อยละ 5.0 โดยผู้เช่าเวลามีความเห็นว่า เงินดังกล่าวเป็น “ค่าเช่า” ตามมาตรา 40(5)(ก)
แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ มีความเห็นว่า เงินดังกล่าวแม้จะเรียกว่าเป็นค่าเช่าเวลาออกอากาศ
ก็ตาม แต่จากลักษณะและเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและแนวปฏิบัติที่ทำต่อกันนั้น บริษัทฯ มิได้มีการ
ส่งมอบทรัพย์สินใด ๆ ให้แก่ผู้เช่าเวลาครอบครองภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งแต่อย่างใด บริษัทฯ
ยังคงมีสิทธิเด็ดขาดในช่วงเวลาที่ผู้เช่าเวลาใช้เพื่อจัดรายการออกอากาศ จึงถือได้ว่าผู้เช่าเวลาได้ใช้
เวลาออกอากาศเพื่อขายโฆษณาแก่ผู้สนับสนุนรายการ ดังนั้น ค่าเช่าเวลาออกอากาศดังกล่าว ควรจัด
เป็นเงินได้จากการรับโฆษณา ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 2.0 ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26
กันยายน พ.ศ. 2528 จึงหารือว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัท อ. ให้เช่าเวลาออกอากาศแก่ผู้เช่า ซึ่งตามสัญญาเช่าเวลาดังกล่าว ผู้ให้เช่า
เวลาออกอากาศไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าครอบครองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือได้ใช้หรือ
ได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินใด ๆ แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการเช่าทรัพย์ตามมาตรา 537
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่ถือเป็นสัญญาบริการ และโดยที่ผู้เช่าเวลาออกอากาศเป็น
ผู้ผลิตรายการและจัดหาโฆษณาเองโดยไม่มีการว่าจ้างให้ผู้ให้เช่าโฆษณาสินค้าแก่ผู้เช่าเวลา ดังนั้น การ
จ่ายเงินดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการจ่ายค่าโฆษณาให้แก่ผู้ให้เช่า แต่เป็นการจ่ายค่าบริการอื่นซึ่งถือเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือ
นิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 3.0
ของยอดเงินได้ที่จ่ายนั้น ทั้งนี้ ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่
26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่
15 กันยายน พ.ศ. 2544
เลขตู้: 67/33076

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020