เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8229
วันที่: 3 กันยายน 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่มีข้อความระบุจำนวนเงินที่ผู้มีเงินได้จ่ายสะสมเข้า กบข.
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50 ทวิ, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121)
ข้อหารือ: กบข. แจ้งว่า ตามที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้เสียภาษีที่มีหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ระบุจำนวนเงินที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายหรือได้ถูกหักเงิน
ไว้เพื่อนำส่งเข้า กบข. มายกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่สมาชิกได้จ่ายเป็นเงินสะสมเข้า กบข. เฉพาะส่วนที่
ไม่เกิน 300,000 บาท ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น ปรากฏว่า
มีส่วนราชการเพียงประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น ที่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายระบุ
จำนวนเงินสะสมของสมาชิกที่ถูกหักส่งเข้า กบข. ทำให้สมาชิก กบข. จำนวนมากยังคงต้องใช้หลักฐาน
ใบรับรองยอดเงินสะสมที่สมาชิกส่งเข้า กบข. ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของใบรับรองฯ เป็นเพียงหลักฐานในการยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ กบข. ต้องการให้ใบรับรองฯ ดังกล่าวเป็นสื่อกลางในการแสดง
ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจให้แก่สมาชิก และการบริหารเงินออมส่วนบุคคล
เพื่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว หาก กบข. มีเวลาจำกัดในการออกใบรับรองฯ ให้ทันกับการ
นำไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีแล้ว ก็จะทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็น
ประโยชน์ต่อสมาชิกต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขดังกล่าว
แนววินิจฉัย: 1. กรณีสมาชิก กบข. ใช้สิทธินำเงินสะสมที่จ่ายเข้า กบข. มายกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่สมาชิก กบข. ได้จ่ายเป็นเงินสะสมเข้า กบข. ตาม
กฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
ตามข้อ 2(43) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509 ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง
(ฉบับที่ 208) พ.ศ. 2540 ฯ สมาชิก กบข. สามารถใช้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา
50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ส่วนราชการผู้จ่ายเงินได้ได้ระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของ
ผู้มีเงินได้เข้า กบข. ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวได้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)ฯ
ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121)ฯ ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2545 แต่หากส่วนราชการไม่ได้ระบุข้อความ
จำนวนเงินสะสมที่สมาชิกได้ส่งเข้า กบข. สมาชิก กบข. สามารถใช้ใบรับรองฯ ที่ กบข. ออกเป็น
หลักฐานการจ่ายเงินสะสมเข้า กบข. เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ในการยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น
2. กรณี กบข. ไม่ประสงค์จะให้สมาชิกใช้ใบรับรองฯ ที่ กบข. ออกให้เพื่อใช้เป็นหลักฐาน
ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ประสงค์จะให้ส่วนราชการผู้จ่ายเงินได้ระบุข้อความ
จำนวนเงินสะสมที่จ่ายเข้า กบข. ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร ก็สามารถกระทำได้ ซึ่ง กบข. สามารถแจ้งให้ส่วนราชการผู้ออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังกล่าว ถือปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)ฯ ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121)ฯ ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2545
ตามที่ได้ส่งมาพร้อมนี้ด้วยแล้ว
เลขตู้: 67/33116

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020