เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9105
วันที่: 4 ตุลาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ)
ข้อหารือ: ธนาคาร ก. ดำเนินโครงการพัฒนาชีวิตครู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้สินและ
พัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีข้าราชการครูจำนวนมากมายื่นกู้เงิน
ตามโครงการฯ กับธนาคาร ก. เพื่อไปไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่นและชำระหนี้สินอื่นที่มีอยู่
โดยมูลหนี้ทั้งหมดมาอยู่กับธนาคาร ก. แห่งเดียว เช่น นาย ส. กู้เงินซื้อบ้านจากธนาคาร ข. จำนวน
1,000,000 บาท และมีหนี้สินอื่นอีก 500,000 บาท นาย ส. มากู้เงินจากธนาคาร ก. ตามโครงการ
พัฒนาชีวิตครู จำนวน 1,500,000 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ดังกล่าว โดยนาย ส. มีสิทธินำดอกเบี้ย
เงินกู้ยืมของธนาคาร ข. มาหักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่แล้ว ธนาคาร
ก. จึงหารือว่า
1. กรณีนาย ส. จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร ก. จะขอหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา
47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ และย้อนหลังได้กี่ปี
2. นาย ส. จะต้องใช้เอกสารชนิดใดบ้าง เพื่อประกอบการขอหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
แนววินิจฉัย: 1. กรณีนาย ส. ได้กู้ยืมเงินจากธนาคาร ก. จำนวน 1,500,000 บาท เพื่อใช้หนี้เงินกู้ยืม
ให้แก่ธนาคาร ข. ซึ่งเป็นเงินกู้เพื่อซื้อบ้านจำนวน 1,000,000 บาท และหนี้สินอื่นอีก 500,000 บาท
นาย ส. มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนของเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน แต่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระกับ
ธนาคาร ข. มาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
และมีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(53) ของ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 226 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 88)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 โดยใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีภาษี
2543 ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในส่วนหนี้สินอื่น นาย ส. ไม่มีสิทธินำมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47(1)(ซ)
แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตาม
ข้อ 2(53) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 226 ฯ
2. หลักฐานที่ผู้มีเงินได้จะต้องใช้ในการหักลดหย่อน สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จะต้องมี
ข้อความอย่างน้อยตามแบบ ล.ย.02 หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง
หลักฐานการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2543
เลขตู้: 67/33156

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020