เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.01)/1023
วันที่: 8 ธันวาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีอายุความขอคืนภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 27 ตรี มาตรา 50(5) มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้น
ภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับจำนวนเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์
ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่ง
มิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำไปชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้
ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2543
ในการขอรับสิทธิประโยชน์เพื่อขอยกเว้นภาษีอากรดังกล่าว ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือ
ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ จะ
ต้องร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแจ้งและส่งมอบต่อเจ้าพนักงานที่ดินในขณะ
จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยส่งมอบหนังสือรับรองการโอน
อสังหาริมทรัพย์ผ่านสรรพากรพื้นที่ ในท้องที่ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ของ
สถาบันการเงินมีภูมิลำเนาหรือสถานประกอบการตั้งอยู่หรือในท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ที่โอนตั้งอยู่ แต่ถ้า
ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ของสถาบันการเงินมีความประสงค์จะชำระภาษีอากร
ไปก่อนในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วขอคืนภาษีอากรในภายหลังก็ไม่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
แต่ต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งในการชำระภาษีอากรไปก่อนแล้วขอคืนในภายหลังนั้น มีระยะเวลา
เท่าใด และเริ่มนับเวลาตั้งแต่เมื่อใด
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.1 กรณีผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้เสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(5)
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้โอนจะ
ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 27 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้เสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียให้ยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี
นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่ง
ประมวลรัษฎากร และต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.1 กรณีผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1 แล้วนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน
ขณะที่มีการจดทะเบียน เกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา
3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษี
เกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
(ภ.ธ.40) ไว้แล้ว เป็นการเสียภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษี (แบบ ค.10)
ต่อกรมสรรพากรภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามที่กฎหมายกำหนด
ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
4. อากรแสตมป์ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ได้มีการเสียอากรแสตมป์ไปแล้วสำหรับใบรับ
จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ จึงเป็นการเสียอากรแสตมป์โดยไม่มีหน้าที่ต้อง
เสีย จึงมีสิทธิขอคืนค่าอากรได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันเสียค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 193/30 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เลขตู้: 67 33230


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020